โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
เว็บ Blog ประกอบการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ส 23102 ส 23104 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/2 ทักษะพื้นฐานการเรียนรู้ 10 ประการ สำหรับการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 โรงเรียน Worl Class Standrad School คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา ผู้สอน

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การเมืองการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ยุค หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

การเมืองการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ยุค
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง


พัฒนาทางด้านประชาธิปไตยสมัยรัชกาลที่ 4-7

การปูพื้นฐานประชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ 5

    การรับอารยธรรมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อให้เกิดการยอมรับความคิดของผู้อื่น ซึ่งเท่ากับเป็นการปูพื้นฐานประชาธิปไตย พอสรุปได้ ดังนี้

            1.ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้น 2 สภา ได้แก่ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of  State)  และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Privy Council) เพื่อแสดงการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น    แม้สมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์แต่ก็นับเป็นการเริ่มระบอบประชาธิปไตย
            2.ทรงเป็นผู้นำกลุ่ม สยามหนุ่ม (Young Siam) ในการต่อสู้ทางความคิดเห็นกับคนรุ่นเก่าที่มักไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และออกหนังสือชื่อ ดรุโณวาท เพื่อเผยแพร่แนวคิดใหม่
            3.ทรงยอมรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มคนหนุ่มที่มีความคิดก้าวหน้ากลุ่มสำคัญกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยพระราชวงศ์ และข้าราชการสามัญ ทรงยอมรับฟังว่าหนทางที่ประเทศไทยจะรักษาเอกราชไว้ได้หนทางหนึ่งนั้น คือ การปรับระบบข้าราชการ และเปลี่ยนการปกครองแบบ แอบโสลูตโมนากี (สมบูรณาญาสิทธิราชย์) เป็นแบบคอนสติติวชันแนลโมนากี ห(พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ) แม้จะยังไม่ทรงสามารถปฏิบัติตามในขณะนั้นได้ก็ตาม
            4.ทรงออกพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ.2440 ซึ่งมีสาระสำคัญส่วนหนึ่ง คือ ให้มีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งจัดว่าเป็นการปูพื้นฐานประชาธิปไตยที่ชัดเจน 

การปูพื้นฐานประชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ 6

     ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญของโลก ที่แสดงพลังอำนาจของประชาชนเป็นกระแสประชาธิปไตยที่รุนแรง กล่าวคือ ใน พ.ศ.2451 (ก่อนขึ้นครองราชย์ 2 ปี) ประเทศตุรกีก็ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นแบบประชาธิปไตย ในพ.ศ.2454 เกิดการปฏิวัติในประเทศจีน ขับไล่พระจักรพรรดิเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐและใน พ.ศ.2460 พระองค์ก็ได้ทรงทราบถึงการปฏิวัติใหญ่ของพวกบอลเชวิก ล้มล้างอำนาจ ปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์และราชวงศ์ เกิดการนองเลือดทั่วไปในแผ่นดินรัสเซีย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงทราบดีว่ามีกลุ่มประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่งที่เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แม้จะทรงเห็นด้วย แต่ความรู้เรื่องประชาธิปไตยจำกัดขอบเขตอยู่ในคนส่วนน้อยเท่านั้น จึงทรงดำเนินพระราชกุศโลบาย  เพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตย เป็น 3 วิธี คือ

            1.ทรงตั้งดุสิตธานี เมืองจำลองประชาธิปไตย ดุสิตธานีเป็นเมืองจำลองหรือเมืองตุ๊กตา โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในพ.ศ.2461 บนเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ในพระราชวังดุสิต (ภายหลังย้ายไปวังพญาไท) มีถนน อาคารสถานที่ราชการ ร้านค้า และบ้านเรือนเหมือนเมืองจริงๆ แต่ย่อส่วนให้เล็กลงพอเดินดูเห็นได้หมดทั้งเมือง แล้วสมมุติให้ข้าราชการบริพาร ขุนนาง มหาดเล็กของพระองค์เป็นราษฎรของเมืองนี้ จัดให้มีการเลือกตั้ง สภานคราภิบาล ทำหน้าที่ปกครองเมือง มีการออกกฎหมายจัดระบบภาษีอากร ระบบการรักษาพยาบาล และกระบวนการต่างๆ ของเมืองประชาธิปไตย มีการเรียกประชุมราษฎรสมมุติเหล่านั้น มาร่วมกันเลือกตั้ง และแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญของดุสิตธานี มีการอภิปรายถกเถียงกันระหว่างคณะนคราภิบาลกับฝ่ายค้านเพื่อเป็นแบบอย่างให้คนทั้งหลายได้เห็นและคุ้นเคยกับกระบวนการประชาธิปไตย เป็นการสอนหลักประชาธิปไตยแก่ประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดการเล่นละครอยู่แล้วคนทั่วไปจึงพากันเข้าใจว่าดุสิตธานีเป็นการเล่นละครอย่างหนึ่งเท่านั้น จึงไม่ได้ผลในทางปลูกฝังประชาธิปไตยมากนัก


            2.ทรงเขียนบทความหนังสือพิมพ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ นอกจากจะทรงมีพระปรีชาสามารถในทางพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองแล้ว ยังทรงเขียนบทความทางการเมืองตอบโต้กับคนหัวใหม่สามัญชน แม้พระองค์จะทรงใช้พระนามแฝงแต่คนทั่วไป ก็ทราบดีว่าผู้เขียน คือ พระองค์ นับเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีในหมู่พสกนิกรว่า พระมหากษัตริย์มิได้ถือพระองค์ ทรงมีพระราชหฤทัยเป็นนักประชาธิปไตย เป็นอีกก้าวหนึ่งในการปูพื้นฐานประชาธิปไตยของพระองค์ 
            3.พระราชทานอภัยโทษ กบฏ ร.ศ.130 กลุ่มผู้ก่อการกบฏ ร.ศ.130 ส่วนใหญ่เป็นนายทหารหนุ่มซึ่งมีแนวคิดสมัยใหม่ที่ค่อนข้างรุนแรงไม่พอใจวิธีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องการให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยเร็ว จึงร่วมกันคบคิด แต่ความลับรั่วไหลเสียก่อนถูกจับได้ทั้งหมดจึงถูกจำคุกบ้าง รอการลงอาญาบ้าน แต่ภายหลังก็ทรงพระราชทางอภัยโทษให้ทั้งหมด อีกทั้งยังแจกกางเกง ผ้าขาวม้า และเงิน 100 สตางค์ให้ทุกคนอีกด้วย การพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้อาจนับได้ว่าพระองค์ทรงเล็งเห็นความปรารถนาดีของกลุ่มก่อการกบฏ ที่ต้องการให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศจึงไม่ทรงเอาโทษจัดเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยอีกอย่างหนึ่งของพระองค์

การปูพื้นฐานประชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ 7

            ได้กล่าวมาแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จขึ้นครองราชย์ ในปีพ.ศ.2468 ท่ามกลางกระแสความคิดแบบประชาธิปไตย บรรดาสื่อมวลชนในเวลานั้น ซึ่งได้แก่ หนังสือพิมพ์รายวันและรายคาบ ต่างตีพิมพ์บทความแสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดิน และข้อขัดแย้งระหว่างพระราชวงศ์กับราษฎรสามัญอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน นับเป็นแรงกดดันอย่างสำคัญที่พระองค์จะต้องทรงเร่งรีบพิจารณาพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนโดยเร็ว
            สิ่งที่ปรากฏชัดว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงปรารถนาที่จะให้ประชาชนปกครองตนเอง ได้แก่ การที่พระองค์พระราชทานสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาขณะที่ประทับรักษาพระเนตรอยู่ที่นั่นว่า พระองค์กำลังทรงเตรียมการที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย และเมื่อเสด็จกลับประเทศไทยก็ทรงมีพระราชดำริชัดเจนว่าจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 เมษายน 2475 วันเดียวกับวันพระราชพิธีเปิดสะพานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ) เนื่องในโอกาสฉลองกรุงที่กรุงรัตนโกสินทร์สถิตสถาพรมาครบ 150 ปี โดยทรงให้ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศจัดร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ซึ่งกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ได้มอบหมายต่อให้พระยาศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศกับ นายเรย์มอนด์  สตีเวนส์  ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ทั้งสองต่างถวายร่างของตน และถวายความเห็นตรงกันว่ายังไม่ควรปกครองประเทศในระบบรัฐสภา เนื่องจากประชาชนยังไม่พร้อม ควรทดลองในระดับท้องถิ่น (เทศบาล) ก่อน ที่สำคัญ คือพระองค์ยังทรงได้รับการทัดทานการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
จากพระบรมวงศานุวงศ์ในอภิรัฐมนตรีสภา จึงมิได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญตามกำหนดังกล่าว พระราชปณิธานอันนี้เองที่อธิบายได้ว่า เมื่อมีการปฏิวัติยึดอำนาจเหตุใดพระองค์จึงทรงยินดีมอบรัฐธรรมนูญ
ให้แก่พสกนิกรของพระองค์ โดยมิได้ทรงขัดขวาง จะมีขัดขวางก็ที่พระราชวงศ์ผู้ใหญ่บางพระองค์เท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

สาเหตุการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ.2475

            นอกจากสาเหตุดั้งเดิมได้กล่าวมาแล้ว ยังเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ดังจะกล่าวต่อไปนี้
            1.เศรษฐกิจตกต่ำ ในระหว่าง พ.ศ.2472-2474 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก  สินค้าไทยโดยเฉพาะข้าวราคาตกต่ำ เกิดภาวะขาดแคลนทั่วประเทศ ประกอบกับประเทศไทยมี     รายจ่ายเกินกว่ารายได้ต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้ฐานะการเงินการคลังของรัฐบาลอยู่สภาพคลอนแคลน

รายได้ – รายจ่ายของประเทศ พ.ศ.2463 – 2468


ปีงบประมาณ
รายได้
รายจ่าย
จ่ายเกิน
พ.ศ.2463
72,500,000
82,130,126
9,630,126
พ.ศ.2464
77,800,000
82,030,582
4,232,582
พ.ศ.2465
79,000,000
87,416,713
8,416,713
พ.ศ.2466
80,000,000
90,216,043
10,216,043
พ.ศ.2467
84,000,000
93,125,688
9,125,688
พ.ศ.2468
91,000,000
94,875,238
3,875,238


ที่มา : เกียรติชัย  พงษ์พาณิชย์, คณะราษฎร : ความขัดแย้งและรูปแบบเพื่อการครองอำนาจ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 6 (10)

            มิถุนายน 2515 หน้า 59   ซึ่งรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 7 พยายามแก้ไขสถานะการคลังเป็นหลายวิธี เช่น ลาออกจากองค์การมาตรฐานทองคำ กำหนดค่าเงินบาทขึ้นใหม่ แต่ที่สำคัญซึ่งได้รับความเดือดร้อนกันทั่วไป คือ การเพิ่มภาษีราษฎรและการปลดข้าราชการออกเพื่อรักษาดุลยภาพทางการเงินสร้าง             ความไม่พอใจให้แก่ข้าราชการที่พูดกันในสมัยนั้นว่า ถูกดุล เป็นอันมาก
            2.ความขัดแย้งระหว่างสามัญชนกับพระราชวงศ์ สามัญชนมีการศึกษาสูงขึ้น ที่จบจากต่างประเทศ กลับเข้ามารับราชการก็มีมาก แต่บรรดาเจ้านายพระราชวงศ์บางพระองค์ทรงไม่สามารถปรับพระองค์ได้ ยังทรงถือเป็นข้าหรือบ่าวอยู่ตามเดิมอยู่ในลักษณะดูหมิ่นดูแคลน ทำให้สามัญชนที่มีความรู้ความสามารถเกิดน้อยเนื้อต่ำใจ 
            3.แนวคิดที่ได้รับจากตะวันตก ข้าราชการที่ได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตกต้องการให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 
            4.การประวิงเวลาพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 เมษายน 2475 การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มิอาจพระราชทานรัฐธรรมนูญในโอกาสสมโภชกรุงครบรอบ 150 ปี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2475 เพราะได้รับการทัดทานจากคณะอภิรัฐมนตรี เป็นการเร่งรัดให้มีการปฏิวัติโดยเร็วยิ่งขึ้น เพราะข้าราชการที่มีความคิดก้าวหน้าเห็นว่า หนทางที่จะได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใช้กำลังบังคับนั้นไม่มีแล้ว

เหตุการณ์การปฏิวัติ 

            กลุ่มผู้ริเริ่ม คือ นักเรียนไทยในฝรั่งเศส ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญตั้งแต่ต้น ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์ กับ ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ เมื่อบุคคลเหล่านี้กลับประเทศไทย ก็รวบรวมผู้คนซึ่งมีความคิดอย่างเดียวกัน โดยนายปรีดี  พนมยงค์  ซึ่งได้รับพระราชทางบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์ มนูธรรมเป็นผู้ดำเนินการด้านพลเรือน และร้อยโทแปลก  ขีตตะสังคะ ซึ่งได้เลื่อนยศมีบรรดาศักดิ์เป็นพันตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้ดำเนินการด้านทหาร เมื่อรวบรวมผู้คนได้จำนวนมากพอสมควรจึงตั้งชื่อ  คณะปฏิวัติว่า คณะราษฎร มีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์  พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า พันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ  พันธุมเสน) พันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ (สละ  เอมะศิริ) และพันโทพระประสาทพิทยยุทธ (วัน  ชูถิ่น) เป็นรองหัวหน้า
            การปฏิวัติเริ่มในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ขณะที่รัชกาลที่ 7 ทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  โดยอ้างกับกองทหารต่างๆ ว่าเป็นการซ้อมรบยุทธวิธีอย่างใหม่ เมื่อมาถึงพร้อมกันจึงได้ประกาศว่าเป็นการปฏิวัติ หลังจากพระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศแล้วจึงส่งกำลังเข้าควบคุมสถานที่สำคัญๆ ทางราชการในกรุงเทพฯ และแยกย้ายกันไปถวายอารักขา (ควบคุม) พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงและบุคคลสำคัญเพื่อเป็นตัวประกันสำหรับต่อรอง เช่น จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ประธานอภิรัฐมนตรีสภา และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ขณะนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการพระนครอยู่พระองค์ท่านทรงตัดสินพระทัยไม่ใช้กำลังโต้ตอบคณะราษฎรให้เกิดการเสียเลือดเนื้อขึ้น และทรงยินยอม ออกแถลงการณ์ให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ระหว่างนั้นทางฝ่ายคณะราษฎรได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงจุดประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ประชาชนทราบ และได้แถลงหลัก 6 ประการ อันเป็นนโยบายของคณะราษฎรที่จะนำมาใช้บริหารประเทศ

หลัก 6 ประการของคณะราษฎร




            1.หลักเอกราช  จะรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางการศาล    ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
            2.หลักความปลอดภัย จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก    และสร้างความสามัคคีของคนในชาติ
            3.หลักเศรษฐกิจ จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ    จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
            4.หลักเสมอภาค จะให้ราษฎรมีสิทธิเสมอหน้ากัน ไม่ให้ผู้ใดมีสิทธิเหนือผู้อื่น
            5.หลักเสรีภาพ จะให้ราษฎรมีอิสระที่จะใช้สิทธิ ผู้ใดจะบังคับมิได้
            6.หลักการศึกษา จะให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างทั่วถึง

            หลังจากนั้นคณะราษฎรได้ทำหนังสือไปกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7    ให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ             พระองค์ทรงยอมรับตามข้อเสนอของคณะราษฎร    เพื่อให้ประเทศชาติมีรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศตามที่ทรงมีพระราชปณิธานอยู่แล้    ทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองประสบความสำเร็จ โดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ
            พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2475    คณะราษฎรได้นำรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่ง                
            หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและคณะราษฎรบางคนได้ร่างขึ้น    ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย    พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475    นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย
            จากนั้นคณะราษฎรจึงได้คัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวจำนวน 70 คน ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ    ตั้งขึ้นเป็นสภาผู้แทนราษฎร    ละได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ชุด ชุดแรกมีจำนวน 14 คน ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน    ชุดที่สองจำนวน 9 คน เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

พัฒนาทางการเมืองการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475-ปัจจุบัน)

            วิกฤตการณ์ทางการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง    การพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 
            พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้ใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ     ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วจึงได้มีการตั้งคณะรัฐมนตรี จำนวน 20 คนทำหน้าที่บริหารประเทศ มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่รัชกาลที่ 7 พระราชทานให้ใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ มีดังนี้
            1.พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้
            2.อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นพระประมุข ทรงใช้อำนาจนี้แก่โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ    อำนาจอธิปไตยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ นิติบัญญัติ  บริหาร  และตุลาการ
            3.พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี  มีสมาชิก 2 ประเภท    จำนวนเท่ากันเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยมีสมาชิกประเภทที่ 1 ได้แก่ สมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งเข้ามา และประเภทที่ 2    ได้แก่สมาชิกที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
            4.พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างน้อย 14 นาย อย่างมาก 24 นาย
            5.พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล ซึ่งจัดตั้งตามกฎหมาย เพื่อพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

            ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้เกิดความยุ่งยากทางการเมืองขึ้น    ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากความคิดเห็นขัดแย้งในคณะรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี  พนมยงค์)    ซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี เห็นว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ดำเนินการตามหลักการของประเทศสังคมนิยม    ซึ่งก็สอดคล้องกับพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7    ในขณะเดียวกันพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ออกคำสั่งห้ามข้าราชการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าเป็นสมาชิกสมาคม
            เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเท่ากับจะเป็นการล้มคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476    พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา    และออกพระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์    ซึ่งเป็นผลทำให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมต้องเดินทางออกนอกประเทศ    ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับคณะราษฎรจึงปรากฏเด่นชัดขึ้น ในที่สุด    พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา จึงก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล    เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี    อำนาจของคณะราษฎรจึงคืนกลับมาอีกครั้งหนึ่งพร้อมกันนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ได้เดินทางกลับประเทศไทยเข้าร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Selaphumpittayakom School

Selaphumpittayakom School