โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
เว็บ Blog ประกอบการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ส 23102 ส 23104 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/2 ทักษะพื้นฐานการเรียนรู้ 10 ประการ สำหรับการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 โรงเรียน Worl Class Standrad School คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา ผู้สอน

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การเมืองการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปฏิรูปบ้านเมือง

การเมืองการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปฏิรูปบ้านเมือง

            วิกฤตการณ์ทางการเมืองและการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก

นโยบายของไทยที่มีต่อการล่าอาณานิคม
 

            การดำเนินวิเทโศบายของรัชกาลที่ 4 และ 5 ในยุคล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกพระองค์ทรงตะหนักถึงความเป็นมหาอำนาจของชาติตะวันตก การต่อต้านโดยใช้กำลังจึงเป็นไป  ไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีการอื่นแทน ซึ่งพอสรุปได้ 3 ประการ ได้แก่    
            1. การผ่อนหนักเป็นเบา      
            2. การปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัย        
            3.การผูกมิตรกับประเทศมหาอำนาจในยุโรป

การผ่อนหนักเป็นเบา

            1.ยอมทำสนธิสัญญาเสียเปรียบ คือ สนธิสัญญาเบาริง ทำกับประเทศอังกฤษในสมัย  รัชกาลที่ 4 แม้จะทรงทราบดีว่าเสียเปรียบ แต่ก็พยายามให้เสียเปรียบให้น้อยที่สุด
               

            2.การยอมเสียดินแดน รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทรงทราบดีถึงวิธีการเข้าครอบครองดินแดนไว้เป็นอาณานิคมของชาวตะวันตก เช่น ขั้นแรกจะเน้นเข้ามาค้าขายหรือเผยแพร่ศาสนาก่อนแล้วภายหลังก็จะอ้างถึงข้อขัดแย้ง หรือขอสิทธิพิเศษ (เช่น ขอเช่าเมือง,แทรกแซงกิจการ ภายในประเทศ) ขั้นต่อไปก็จะส่งกำลังทหารเข้ายึด อ้างว่าเพื่อคุ้มครองคนของตนให้ปลอดภัยหรือเพื่อเป็นหลักประกันให้ปฏิบัติตามสัญญา ขั้นสุดท้ายก็ใช้กำลังเข้ายึดเพื่อเอาเป็นดินแดนอาณานิคม โดยอ้างข้อพิพาทต่างๆ (กรณีอังกฤษยึดพม่า) ด้วยพระปรีชาสามารถในการหยั่งรู้ความคิดนี้ ทำให้พระองค์สามารถประคับ   ประครองให้ชาติไทยพ้นจากการถูกยึดครองของชาวตะวันตก ซึ่งเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการเสียสละดินแดนส่วนน้อยเพื่อรักษาดินแดนส่วนใหญ่ของชาติเอาไว้ (ถือเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะทำเพื่อรักษาเอกราชเอาไว้)

นโยบายผ่อนหนักเป็นเบา 

            1. สนธิสัญญาเบาริง ข้อเสียเปรียบอย่างยิ่งของไทยจากสนธิสัญญาเบาริง สนธิสัญญาเบาริงเป็นสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบในทุกๆ ด้าน ในบรรดาความเสียเปรียบเหล่านั้นมีความเสียเปรียบ ที่ยิ่งใหญ่ 2 ประการ
                1.ทำให้ไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่คนอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษ  สิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือ สิทธิที่ไม่ต้องขึ้นศาลไทย เมื่อคนอังกฤษหรือคนในบังคับอังกฤษ (ประเทศอาณานิคมของอังกฤษ) หรือคนชาติใดๆ ที่ขอจดทะเบียนเป็นคนในบังคับอังกฤษ ทำความผิดหรือมีคดี กับคนไทย ในระเทศไทย ให้ไปขึ้นศาลกงสุลอังกฤษ โดยอ้างว่า กฎหมายของไทยป่าเถื่อนและล้าหลัง
                2.ทำให้อังกฤษเป็นชาติอภิสิทธิ์ คือ อังกฤษเป็นชาติที่มีสิทธิพิเศษ ไม่ว่าไทยจะทำสัญญากับประเทศอื่นใด ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาริง ก็ให้ถือว่าอังกฤษมีสิทธิเช่นเดียวกับชาตินั้นๆ โดยอัตโนมัติ 
            2. การยอมเสียดินแดนการเสียดินแดนของไทยเป็นการเสียให้แก่ชาติตะวันตกเพียง 2 ชาติ คือ ฝรั่งเศสและอังกฤษ รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการเสียให้แก่ฝรั่งเศส ครั้งแรกเสียไปในตอนปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
             หลังจากนั้นเป็นการเสียดินแดนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทั้งสิ้น 
            การเสียดินแดนเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายในการรักษาเอกราชของชาติ การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเร่งปรับปรุงชาติบ้านเมืองให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ และการเสด็จประพาสยุโรปเพื่อผูกมิตรกับชาติมหาอำนาจในยุโรปถึง 2 ครั้งของพระองค์ เป็นเครื่องยืนยันพระราชวิริยะอุตสาหะของพระองค์ที่จะรักษาเอกราชของชาติไว้ ทุกครั้งที่ทรงยินยอมเสียดินแดนไปนั้นล้วนแล้วแต่เป็นกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทั้งสิ้น

พัฒนาการด้านการเมืองการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ 
ยุคปฏิรูปบ้านเมืองรัชกาลที่ 4 

พัฒนาการด้านการเมืองการปกครองสมัยรัชกาลที่ 4
สาเหตุการปรับปรุงการปกครองสมัยรัชกาลที่ 4 

            1.ทรงได้รับแนวคิดจากชาวตะวันตก ซึ่งพระองค์ได้สัมผัสและทรงคุ้นเคยตั้งแต่ครั้งยังผนวชอยู่
            2.เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า และเป็นพื้นฐานที่จะได้มีการเปลี่ยนแปลงในโอกาสต่อไป เพื่อรักษาเอกราชของประเทศชาติให้พื้นจากการครอบครองของประเทศ ตะวันตกที่กำลังขยายอิทธิพลเข้ามาในประเทศไทยในขณะนั้น

การปรับปรุงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 4

            1.ออกประกาศต่างๆ เรียกว่า ประกาศรัชกาลที่ 4 เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารระเบียบแบบแผนการปฏิบัติของผู้คนในสังคมอย่างถูกต้อง
            2.ปรับปรุงกฎหมาย ทรงตราพระราชกำหนดกฎหมายใหม่ และออกประกาศข้อบังคับต่างๆ ถือว่าเป็นกฎหมายเช่นเดียวกันรวมทั้งหมดประมาณ 500 ฉบับ
            3.โปรดให้จัดตั้งโรงพิมพ์หลวงขึ้นในพระบรมหาราชวัง มีชื่อเรียกว่า “โรงอักษรพิมพการ”  เพื่อใช้พิมพ์ประกาศและกฎหมายต่างๆ เป็นหนังสือแถลงข่าวของทางราชการ เรียกว่า ราชกิจจานุเบกษา
            4.ให้ราษฎรมีโอกาสได้ถวายฎีการ้องทุกข์ได้สะดวก พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงระเบียบวิธีการร้องทุกข์  โดยพระองค์จะเสด็จออกมารับฎีการ้องทุกข์ด้วยพระองค์เองทุกวันโกณ ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เดือนละ 4 ครั้ง และโปรดเกล้าฯให้ตุลาการ ชำระความให้เสร็จโดยเร็ว  ทำให้ราษฎรได้รับความยุติธรรมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
            5.ทรงประกาศให้เจ้านายและข้าราชการทำการเลือกตั้งตำแหน่ง พระมหาราชครูปุโรหิตาจารย์  และตำแหน่งพระมหาราชครูมหิธร อันเป็นตำแหน่งที่ว่างลง แทนที่ พระองค์จะทรงแต่งตั้งด้วยพระราชอำนาจของพระองค์เอง นับเป็นก้าวใหม่ของการเลือกตั้งข้าราชการบางตำแหน่ง
            6.การปรับปรุงระบบการศาล ทรงเปลี่ยนแปลงประเพณีบางอย่างเกี่ยวกับระบบ การศาล ได้แก่ ทรงยกเลิกการพิจารณาคดีแบบจารีตนครบาล เริ่มมีการจัดตั้ง ศาลกงสุลเป็นครั้งแรก
            7.ทรงเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา โดยพระองค์ทรงเสวย น้ำพระพิพัฒน์สัตยาร่วมกับขุนนางข้าราชการ และทรงปฏิญาณนความซื่อสัตย์ของ    พระองค์ต่อข้าราชการทั้งปวงด้วย ซึ่งแต่เดิม ขุนนางข้าราชการจะเป็นผู้ ถวาย สัตย์ปฏิญาณแต่เพียงฝ่ายเดียว นับว่าพระองค์ทรงมีความคิดที่ทันสมัยมาก
            8.ทรงริเริ่มการจัดกองทหารแบบตะวันตก

พัฒนาการด้านการเมืองการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ 
ยุคปฏิรูปบ้านเมืองรัชกาลที่ 5

            สาเหตุสำคัญในการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5
            1.ปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้าเพื่อป้องกันการคุกคามของประเทศมหาอำนาจตะวันตก
            2.การปกครองแบบเก่า อำนาจการปกครองบ้านเมืองตกอยู่กับขุนนาง ถ้าปฏิรูปการปกครองใหม่ จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจอย่างแท้จริง 
การปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 

            รัชกาลที่ 5 ทรงจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเพื่อช่วยในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนี้
            1.การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) สมาชิกสภาประกอบด้วยข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาจำนวน 12 คน ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งมีหน้าที่ ถวายคำปรึกษาในเรื่องเกี่ยวกับราชการแผ่นดินโดยทั่วไป พิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ
            2.องคมนตรีสภา (สภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์) (Privy Council) สมาชิกประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ ์และข้าราชการระดับต่างๆ จำนวน 49 คน ทำหน้าที่ ถวาย คำปรึกษาข้อราชการและเสนอความคิดเห็นต่างๆ และมีหน้าที่ช่วยปฏิบัติราชการ ตามแต่จะมีพระบรมราชโองการ ปัจจุบันคือ คณะองคมนตรี 
            ต่อมาภายหลัง 2 สภาถูกยกเลิกไปเพราะขุนนางไม่พอใจ คิดว่ากษัตริย์จะล้มล้างระบบขุนนาง จึงเกิดการ ต่อต้าน 

การปฏิรูปการปกครองส่วนกลางของรัชกาลที่ 5

            มีการปฏิรูปการปกครองส่วนกลางโดยยกเลิก จตุสดมภ์ และใช้การบริหารงานแบบกระทรวงตามแบบอย่างของตะวันตก โดยจัดรวมกรมต่างๆ ที่มีลักษณะงาน คล้ายๆ กันมาเป็นกรมขนาดใหญ่ 12 กรม 
            ต่อมาเปลี่ยนเป็น กระทรวง อยู่ในความดูแลของเสนาบดี มี 12 กระทรวง
            1.กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือรวมทั้งเมืองประเทศราชทางเหนือ 
            2.กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้รวมทั้งเมืองประเทศราชทางใต้ 
            3.กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับเรื่องการต่างประเทศ 
            4.กระทรวงวัง มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับเรื่องในราชสำนักและพระราชพิธีต่างๆ ตลอดจนพิจารณาคดีแทนพระมหากษัตริย์ 
            5.กระทรวงเมือง มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยในพระนคร ดูแลรักษาบัญชีคนดูแลเกี่ยวกับคุก ดูแลกิจการตำรวจ (ภายหลังเปลี่ยนเป็นกระทรวงนครบาล)
            6.กระทรวงเกษตราธิการ มีหน้าที่ จัดการเรื่องการเพาะปลูก การป่าไม้ เหมืองแร่ การค้าขาย และการขุดคลอง รวมทั้งโฉนดที่ดิน ที่เริ่มมีขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 5 นี่เอง
            7.กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับเรื่องภาษีอากร รายรับ-รายจ่ายของแผ่นดิน ตลอดจนรักษาทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน
            8.กระทรวงยุทธนาธิการ มีหน้าที่ดูแลจัดการเรื่องการทหาร ทั้งทหารบก และทหารเรือ 
            9.กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับการศาสนา การศึกษา การพยาบาลและพิพิธภัณฑ์ 
            10.กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่จัดการเรื่องการก่อสร้างต่างๆ ตลอดจนการไปรษณีย์โทรเลขและการรถไฟ 
            11.กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยรวมการพิจารณาพิพากษาคดี ที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆเข้าด้วยกัน 
            12.กระทรวงมุรธาธิการ มีหน้าที่ดูแลรักษาพระราชลัญจกร ตลอดจนพระราชกำหนดกฎหมายและหนังสือราชการต่างๆ เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ 
            ต่อมาได้ยุบกระทรวงยุทธนาธิการไปรวมกับกระทรวงกลาโหมและยุบกระทรวงมุรธาธิการไปรวมกับกระทรวงวัง เพื่อความเหมาะสมและรัดกุมมากยิ่งขึ้นและให้กระทรวงกลาโหมทำหน้าที่เกี่ยวกับการทหาร ทั่วประเทศอย่างเดียว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  ยาวนานมาก (23ปี)
            มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการบริหารงานในกระทรวงมหาดไทยมีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
            มีผลงานด้านการปกครองที่สำคัญคือการจัดตั้งมณฑล 18 มณฑล   จังหวัด 71 จังหวัด อันเป็นรากฐานสำคัญในการปกครองและบริหารท้องที่ในปัจจุบันจนได้รับการยกย่องว่าเป็น   “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย”

การปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคของรัชกาลที่ 5

            1.ยกเลิกหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา และยกเลิกหัวเมืองประเทศราช จัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล แบ่งเขตการปกครองเป็นมณฑล 
               เมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย เป็นการรวมอำนาจตามหัวเมืองเข้าสู่ราชธานี            
                1.1 มณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาล เป็นผู้ดูแล แต่ละมณฑลแบ่งออกเป็น เมือง
                1.2 เมือง มีผู้ว่าราชการเป็นผู้ดูแล แต่ละเมืองแบ่งออกเป็นอำเภอ 
                1.3 อำเภอ มีนายอำเภอเป็นผู้ดูแล แต่ละอำเภอแบ่งออกเป็นตำบล 
                1.4 ตำบล มีกำนันเป็นผู้ดูแล แต่ละตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน 
                1.5 หมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ดูแล 

การปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นของรัชกาลที่ 5

            1.ทรงริเริ่มให้สิทธิแก่ราษฎรในการเลือกผู้ปกครองตนเองเป็นครั้งแรก โปรดเกล้าฯให้มีการทดลองเลือกตั้ง “ผู้ใหญ่บ้าน”ที่บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แทนการแต่งตั้งโดยเจ้าเมือง ต่อมาใน พ.ศ.2440 ทรงออกพระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ ร.ศ.116 กำหนดการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน โดยอาศัยเสียงข้างมากของราษฎร
            2.โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก และสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรก ที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่บริหารงาน สุขาภิบาล มีรายได้จากภาษีโรงเรือนในท้องถิ่น 

ผลของการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ 5

            1.ก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปกครองส่วนภูมิภาคในรูปมณฑลเทศาภิบาล    โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
            2.รัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ สามารถขยายอำนาจเข้าควบคุมพื้นที่ภายในราชอาณาจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการหยุดยั้งการคุกคามจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก ต่อประเทศไทย 
            3.ทำให้กลุ่มผู้เสียผลประโยชน์จากการปฏิรูปการปกครอง พากันก่อปฏิกิริยาต่อรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ดังจะเห็นได้จากกรณีกบฏผู้มีบุญภาคอีสาน ร.ศ.121  กบฏเงี้ยวเมืองแพร่    ร.ศ.121 กบฏแขกเจ็ดหัวเมือง ร.ศ.121 แต่รัฐบาลก็สามารถควบคุมสถานสถารณ์ไว้ได้

พัฒนาการด้านการเมืองการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ 
ยุคปฏิรูปบ้านเมืองรัชกาลที่ 6

            การปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 6
            1.การจัดตั้ง ดุสิตธานี เพื่อทดลองการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยโปรดฯให้สร้างนครจำลองขึ้น 
            พระราชทานนามว่า ดุสิตธานี เดิมตั้งอยู่ที่พระราชวังดุสิต ต่อมาย้ายไปอยู่ที่พระราชวังพญาไท (บริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯในปัจจุบัน) 
            ภายในดุสิตธานีมีสิ่งสมมุติ หรือ แบบจำลองต่างๆ เช่น ที่ทำการรัฐบาล วัดวาอาราม อาคารบ้านเรือน ถนน สาธารณูปโภค สถานที่ราชการ ฯลฯ 
            โปรดฯ ให้มีการบริหารงานในดุสิตธานี โดยวิธีการเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งในระบบพรรคการเมือง
            พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมาก เป็นผู้จัดตั้งคณะผู้บริหารดุสิตธานี เรียกว่า นคราภิบาล 
            ลักษณะการบริหารงานในดุสิตธานี เป็นการจำลองการบริหารงานแบบเทศบาล ของประเทศตะวันตก 

การปรับปรุงการปกครองส่วนกลางของรัชกาล 6

            1.โปรดให้จัดตั้งกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงมุรธาธิการ (ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกไป) กระทรวงทหารเรือ กระทรวงพาณิชย์
            2.ทรงยกเลิกกระทรวงนครบาล รวมเข้ากับกระทรวงมหาดไทย
            3.ทรงให้เปลี่ยนชื่อกระทรวงโยธาธิการ เป็นกระทรวงคมนาคม

การปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคของรัชกาลที่ 6

            1.ปรับปรุงเขตการปกครองของมณฑล บางมณฑล
            2.โปรดฯให้รวมมณฑลที่อยู่ติดกันหลายๆ มณฑล รวมกันเป็น ภาค แต่ละภาคมีอุปราชเป็นผู้บังคับบัญชา ทำหน้าที่ตรวจตราควบคุมดูแลการบริหารงานของสมุหทศาภิบาลมณฑลในภาคนั้น ๆ
            3.เปลี่ยนคำว่า เมือง เป็น จังหวัด

การขยายกิจการทหารของรัชกาลที่ 6

            ทรงจัดตั้งกระทรวงทหารเรือ กองบิน และสร้างสนามบินขึ้นเป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 6 
            ได้มีเหตุการณ์ ร.ศ.130 ในปีพ.ศ.2445 มีนายทหารและพลเรือนกลุ่มหนึ่งได้เตรียมการยึดอำนาจ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาสู่ระบอบประชาธิปไตย
             แต่รัฐบาลได้ล่วงรู้ก่อนได้จับกุมกลุ่มกบฏ ร.ศ.130 จำคุกและได้รับการลดโทษและอภัยโทษภายหลัง

พัฒนาการด้านการเมืองการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ 
ยุคปฏิรูปบ้านเมืองรัชกาลที่ 7

            พัฒนาการด้านการเมืองการปกครองสมัยรัชกาลที่ 7

            1.ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีสภา เพื่อเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน มีสมาชิกประกอบด้วย พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง 5 พระองค์
            2.ทรงแต่งตั้งองคมนตรีสภา มีหน้าที่พิจารณาถวายความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่ออกใหม่และการบริหารราชการด้านต่างๆ
            3.ทรงแต่งตั้งเสนาบดีสภา มีหน้าที่ในการถวายคำปรึกษาแด่พระมหากษัตริย์ หรือปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายงานในหน้าที่ของกระทรวง สมาชิกเสนาบดีสภา    ประกอบด้วย เสนาบดีบังคับบัญชากระทรวงต่างๆ

การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนกลาง 

            การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2475-2461) ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก รัฐบาลจึงมีนโยบายลดหน่วยราชการ จึงรวมกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงพาณิชย์ เข้าด้วยกัน เรียกชื่อว่า กระทรวงพาณิชย์และการคมนาคม

การปรับปรุงการบริหารส่วนภูมิภาค 

        1.ยกเลิกมณฑลบางมณฑลที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยรวมมณฑลหลายมณฑลเข้าด้วยกัน
        2.ยุบเลิกจังหวัดบางจังหวัด

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 
            1.เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน    ทุกคนเท่าเทียมกัน)
            2.ผู้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ คณะราษฎร ประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือและพลเรือน นำโดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าฝ่ายทหาร คือ จอมพลแปลก(ป)  พิบูลสงคราม  หัวหน้าฝ่ายพลเรือน คือ นายปรีดี  พนมยงค์  (หลวงประดิษฐ์  มนูธรรม)เข้าทำการยึดอำนาจและส่งผู้แทนเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งพระองค์ก็ทรงยอมรับข้อเสนอของคณะราษฎร    และพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ซึ่งประเทศไทยถือวันนี้ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ
            3.วันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
            4.พระมหากษัตริย์องค์แรกของการปกครองแบบประชาธิปไตย และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ รัชกาลที่ 7
            5.นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

การปฏิรูปกฎหมายและการศาลไทยรัชกาลที่ 4-7

            การปฏิรูปกฎหมายและการศาลของรัชกาลที่ 5  ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นระยะเวลาที่ชาวตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย แม้จะมีการออกประกาศและตรากฎหมายต่างๆ ขึ้นมาใช้บังคับราษฎร 
            แต่ยังมีกฎหมายวิธีพิจารณาคดี ที่เรียกว่า จารีตนครบาล คือ การพิจารณาคดีที่ถือว่า ผู้ใดถูกกล่าวหา ผู้นั้นต้องหาพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นได้ว่าตนบริสุทธิ์ และมีการทำทารุณกรรม เพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพว่าทำผิด เช่น การตอกเล็บ บีบขมับ จนกว่าจะรับสารภาพ 
            ซึ่งชาวตะวันตกเห็นว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม จึงไม่ยอมให้ใช้กับคนในบังคับของตน เป็นเหตุให้ไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (สิทธิทางการศาล) 
            โดยไทยต้องยอมให้ต่างประเทศตั้งศาลกงสุลชำระคดีความที่คนของตนและคนในบังคับตน ทำความผิดในประเทศไทย ซึ่งเท่ากับทำให้ไทยเสียเอกราชทางการศาล 
            รัชกาลที่ 5 จึงทรงพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ขึ้น ได้แก่
            1.จัดตั้งกระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2434
            2.จัดตั้งโรงเรียนสอนกฎหมาย (ภายหลังได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรี ดิเรกฤทธิ์ หรือพระนามเดิมคือ    พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ โอรสของรัชกาลที่ 5 หลังจากสำเร็จวิชากฎหมายจาก มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ก็กลับมารับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนสอนกฎหมายขึ้น และทรงดำเนินการสอนเอง ภายหลังได้รับการยกย่อง ว่าเป็น พระบิดาแห่งกฎหมายและการศาลไทย 
            3.ตั้งคณะกรรมการตรวจชำระและร่างกฎหมายลักษณะอาญา ประกาศใช้ในพ.ศ.2451 จัดเป็นกฎหมายแบบใหม่และทันสมัยที่สุดฉบับแรกของไทย
            4.ยกเลิกกฎหมายตราสามดวง และประกาศใช้กฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น  พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ.116 พระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือร.ศ.120    กฎหมายว่าด้วยการเลิกทาส พ.ศ.2448 ฯลฯ
            5.มีการปฏิรูปภาษากฎหมายไทยให้รัดกุมและชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น
            6.ปรับปรุงรวบรวมปรับปรุงศาล เพื่อให้ทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น ตราพระธรรมนูญศาล ยุติธรรม พ.ศ.2451 ให้มีศาลฎีกา ศาลสถิตยุติธรรมกรุงเทพฯ และศาลหัวเมือง
            7.ในพ.ศ.2455 มีการจัดระบบศาลใหม่ ให้มีศาลในกระทรวงยุติธรรม 2 แผนก คือ
               1.ศาลยุติธรรมกรุงเทพฯ ได้แก่ ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลพระราชอาญา ศาลแพ่ง ศาลต่างประเทศ ศาลโปรีสภา
               2.ศาลหัวเมือง ได้แก่ ศาลมณฑล ศาลเมือง และศาลแขวง
การปฏิรูปกฎหมายและการศาลของไทยนอกจากจะเป็นผลงานของ   พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการไทยแล้ว ยังได้ว่าจ้างนักกฎหมายชาวญี่ปุ่น และชาวยุโรป มาช่วยด้วย 

การปรับปรุงกฎหมายและการศาลของรัชกาลที่ 6

        1.ปรับปรุงระเบียบการศาล โดยแบ่งงานในกระทรวงยุติธรรมเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายธุรการ กับฝ่ายตุลาการ โดยตุลาการทำหน้าที่พิจารณาคดีได้อย่างอิสระ
        2.มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นครั้งแรก
        3.โปรดฯให้ตั้งสภานิติศึกษา มีหน้าที่จัดระเบียบและวางหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนกฎหมาย 


ที่มา : ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐและคณะ,หนังสือเรียน ส306 ประเทศของเรา 4 สมบูรณ์แบบ,
          (กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,2542) 

         คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,
         ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ , (กรุงเทพฯ : อัมรินทร์การพิมพ์,2525) 

         สุคน  สินธพานนท์ และพรรษมน กิตติสารศักดิ์. สังคมศึกษา ส306. 2542. หน้า 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Selaphumpittayakom School

Selaphumpittayakom School