ลักษณะทางเศรษฐกิจของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นใหม่ๆนั้นการค้ากับต่างประเทศมียังไม่มาก
เพราะมีปัญหาภายในและต้องทำสงครามกับพม่า ภายหลังไทยสามารถเอาชนะพม่าได้อย่างเด็ดขาดในสงครามท่าดินแดง(พ.ศ.2329)
ทำให้มีหลายประเทศเข้ามาทำการค้าด้วย เศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า
เศรษฐกิจการค้าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เจริญรุ่งเรือง คือ การปรับปรุงจัดทำเงินตราขึ้นใหม่ เงินตราที่ใช้ในสมัยนี้ คือ เงินพดด้วง
มีรูปร่างคล้ายตัวด้วง และมีตราเครื่องหมายประจำรัชกาลตีกำกับไว้
เงินพดด้วง
1. รายได้จากการค้ากับต่างประเทศ
กรุงเทพฯ นับว่าอยู่ในทำเลที่เหมาะสมในการติดต่อค้าขายทางเรือ
เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลจากปากทะเล ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
(ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3)
ซึ่งทรงบังคับบัญชากรมท่า มีบทบาทในการส่งเสริมการค้าโดยเฉพาะกับจีน จนสมเด็จพระบรมชนกนาถ
ทรงเรียกพระนามว่า "เจ้าสัว" ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างจริงจัง การค้าขายกับต่างประเทศจึงขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าใน 2 รัชกาลแรก
รายได้จากการค้ากับต่างประเทศที่สำคัญ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้คือ
(1) การค้าสำเภาหลวง พระคลังสินค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐขึ้นอยู่กับพระคลัง
(พระยาโกษาธิบดี) มีหน้าที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ โดยการแต่งเรือสำเภาหลวงบรรทุกสิ่งของ
ที่เป็นส่วย เช่น ดีบุก พริกไทย ครั่ง ขี้ผึ้ง ไม้หอม ฯลฯ รวมทั้งสินค้าอื่น ๆ ที่จัดซื้อหาเพิ่มเติมออกไปค้าขายกับจีนและประเทศใกล้เคียง เช่น เขมร ญวน และมลายู แล้วรับซื้อสินค้าต่างประเทศที่ต้องการใช้ภายในประเทศ เช่น ผ้า ถ้วยชาม มาจำหน่ายแก่ประชาชนอีกต่อหนึ่ง ผลกำไรจากการค้าสำเภาหลวงนับเป็นรายได้ที่สำคัญยิ่งของแผ่นดิน
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
(2) กำไรจากการผูกขาดสินค้า พระคลังสินค้ามีหน้าที่ควบคุมการค้ากับต่างประเทศ
เช่นในสมัยอยุธยา โดยผูกขาดสินค้าบางอย่างซึ่งเป็นสินค้าหายาก ราคาแพง เช่น รังนก ฝาง ดีบุก
งาช้าง พริกไทย เนื้อไม้ ตะกั่ว และพลวง เป็นสินค้าผูกขาดของหลวง ราษฎรผู้ใดมีสินค้าดังกล่าว
ให้นำมาขายแก่พระคลังสินค้า เท่านั้น ห้ามเอกชนซื้อขายกับพ่อค้าต่างชาติโดยตรง ถ้าชาวต่างประเทศ
ต้องการซื้อสินค้าเหล่านี้ จะต้องซื้อผ่านพระคลังสินค้าซึ่งทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง เรียกสินค้าเหล่านี้ว่า
สินค้าต้องห้าม
(3) ภาษีปากเรือ เป็นค่าธรรมเนียม ซึ่งเก็บจากเรือสินค้าของชาวต่างประเทศที่เข้ามาจอดในเมืองท่าของไทย กำหนดเก็บภาษีตามส่วนกว้าง
ที่สุดของเรือ
(4) ภาษีสินค้าขาเข้า เก็บจากสินค้าที่พ่อค้าต่างประเทศนำเข้ามาจำหน่าย เช่น ผ้าฝ้าย
ผ้าแพรจีน เครื่องแก้ว เครื่องลายคราม ใบชา อัตราการเก็บไม่แน่นอน ยืดหยุ่นตามความเหมาะสม เช่น เรือของประเทศที่มีสัมพันธไมตรีเข้ามาค้าขายเป็นประจำ จะได้รับสิทธิพิเศษ ในสมัยรัชกาลที่ 2 เรือสินค้าของชาวจีนเสียภาษีสินค้าขาเข้าร้อยละ 4 ถ้าเป็นเรือสินค้าของชาติตะวันตก เสียภาษีร้อยละ 8
ของราคาสินค้า
(5) ภาษีสินค้าขาออก เก็บจากสินค้าที่ส่งออกในอัตราที่ต่างกันไปตามชนิดของสินค้า
เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 2 รังนกนางแอ่นกับเขากวางอ่อน เสียภาษีร้อยละ 20 ของราคาสินค้า
งาช้างหาบละ 10 สลึง เกลือเกวียนละ 4 บาท หนังวัว หนังควาย กระดูกช้าง หาบละ 1 บาท
2. รายได้ภายในประเทศ
ส่วนใหญ่คงเป็นแบบเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงธนบุรี
รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีอากร แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
(1) จังกอบ หมายถึง ภาษีสินค้าผ่านด่านทั้งทางบกและทางน้ำ โดยการเก็บ
ตามสัดส่วนสินค้าในอัตรา 10 หยิบ 1 หรือเก็บเงินตามขนาดของยานพาหนะที่ขนสินค้า
ผ่านด่าน ส่วนใหญ่วัดตามความกว้างที่สุดของปากเรือ
(2) อากร เป็นเงินที่เก็บจากผลประโยชน์ที่ราษฎรได้จากการประกอบอาชีพต่าง ๆ
ที่ไม่ใช่การค้าขายโดยตรง เช่น การทำนา ทำสวน หรือเงินที่พ่อค้าเสียให้แก่รัฐบาล
ในการให้สัมปทานการประกอบการต่าง ๆ เช่น การให้เก็บของป่า การต้มสุรา
อัตราที่เก็บประมาณ 1 ใน 10 ของผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้
(3) ส่วย เป็นเงินหรือสิ่งของที่ไพร่หลวงที่ไม่ต้องการเข้าเวรรับราชการส่งมาให้รัฐแทนการเข้าเวร
รับราชการ โดยรัฐเป็นผู้กำหนดว่าให้ไพร่หลวงต้องเข้าเวรภายใน 3 เดือน ผู้ใดไม่ต้องการจะเข้าเวร
จะต้องเสียเป็นเงินเดือนละ 6 บาท
(4) ฤชา เป็นเงินค่าธรรมเนียมที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎร ในกิจการที่ทางราชการจัดทำให้
เช่น การออกโฉนด เงินปรับสินไหม ที่ฝ่ายแพ้จะต้องชดใช้ให้แก่ฝ่ายชนะ รัฐก็จะเก็บไปครึ่งหนึ่งเป็นค่าฤชา
เรียกว่า "เงินพินัยหลวง" นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปรุงภาษีบางอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิมในสมัยรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3
ที่สำคัญ ๆ ดังนี้
สมัยรัชกาลที่ 2 มีการปรับปรุงภาษี ดังนี้
การเดินสวน คือ การให้เจ้าพนักงานที่ได้รับการแต่งตั้งออกไปสำรวจเรือกสวนของราษฎรว่าได้จัดทำผลประโยชน
์ในที่ดินมากน้อยเพียงใด แล้วออกหนังสือสำคัญให้เจ้าของถือไว้เพื่อเป็นหลักฐานการเสียภาษีอากร ซึ่งการจัดแบ่งภาษีการเดินสวนจัดแบ่งตามประเภทของผลไม้
การเดินนา คือ การให้เจ้าพนักงานออกไปสำรวจที่นาของราษฎร แล้วออกหนังสือสำคัญให้เจ้าของถือไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการเสียภาษีอากรที่เรียกว่า "หางข้าว"
คือ การเก็บข้าวในอัตราไร่ละ 2 ถัง และต้องนำไปส่งที่ฉางหลวงเอง
เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน เดิมชาวจีนได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์แรงงานในขณะที่ราษฎรไทยที่เป็นไพร่
และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยต้องถูกสักข้อมือเป็นไพร่และต้องทำงานให้แก่มูลนายและพระเจ้าแผ่นดิน
รัฐบาลไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 เห็นควรที่จะได้ใช้ประโยชน์จากแรงงานจีน จึงได้พิจารณาเก็บเงินค่าราชการ
จากชาวจีน 1 บาท 50 สตางค์ ต่อ 3 ปี จีนที่มาเสียค่าแรงงานแล้ว จะได้รับใบฎีกาพร้อมกับได้รับการผูกปี้ข้อมือด้วยไหมสีแดงประทับตราด้วยครั่งเป็นตราประจำเมือง ซึ่งแตกต่างกันออกไป
เช่น เมืองเพชรบุรีเป็นรูปหนู กาญจนบุรี เป็นรูปบัว การผูกปี้ข้อมือจีนนี้ เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2
ได้เป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชบัญญัติลักษณะการผูกปี้ข้อมือจีน พ.ศ. 2443
ออกใช้บังคับทั่วทุกมณฑล และได้ยกเลิกไปในตอนปลายรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2451
สมัยรัชกาลที่ 3 มีการเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นหลายชนิด เช่น ภาษีพริกไทย น้ำตาล เป็นต้น
ในสมัยนี้มีระบบการเก็บภาษีแบบใหม่เกิดขึ้น เรียกว่า "ระบบเจ้าภาษีนายอากร" หมายถึงการที่รัฐเปิดประมูลการเก็บภาษี
ผู้ชนะการประมูล คือ ผู้ที่เสนอผลประโยชน์สูงสุดให้แก่รัฐบาล มีอำนาจไปดำเนินการเก็บภาษีแทนรัฐบาลอีกต่อหนึ่ง
ผู้ที่ประมูลภาษี เรียกว่า "เจ้าภาษีนายอากร" ส่วนมากเป็นชาวจีนผู้มีฐานะดีทางเศรษฐกิจจากการลงทุนค้าขาย
ผลดีของระบบเจ้าภาษีนายอากร คือรายได้จากการเก็บภาษีอากร
ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น แต่มีข้อเสีย คือ เป็นระบบผูกขาด
ที่ให้แก่ชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ และอาจจะมีการขูดรีดภาษีจากราษฎรได้
ที่มา : ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐและคณะ,หนังสือเรียน ส306 ประเทศของเรา 4 สมบูรณ์แบบ,
(กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,2542)
คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ , ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ , (กรุงเทพฯ : อัมรินทร์การพิมพ์,2525)
สุคน สินธพานนท์ และพรรษมน กิตติสารศักดิ์. สังคมศึกษา ส306. 2542. หน้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น