โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
เว็บ Blog ประกอบการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ส 23102 ส 23104 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/2 ทักษะพื้นฐานการเรียนรู้ 10 ประการ สำหรับการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 โรงเรียน Worl Class Standrad School คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา ผู้สอน

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วีดีโอเรียนรู้พัฒนาการกรุงรัตนโกสินทร์ 6-10

วีดีโอเรียนรู้พัฒนาการกรุงรัตนโกสินทร์ 1-5




วิธีประหารสมัยกรุงศรีอยุธยา

วิธีประหารสมัยกรุงศรีอยุธยา


ในสมัยกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรที่รุ่งเรืองที่สุดอีกยุคสมัยหนึ่งของไทยเรา พบว่า มีการตราบทลงโทษขั้นรุนแรงที่สุดคือ โทษประหารชีวิตเอาไว้ในพระไอยการกระบถศึก ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก่อนจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่กฎหมายฉบับนี้มิได้มีการแก้ไขในบทลงโทษความผิดขั้นประหารชีวิตและวิธีการประหารชีวิตเลยแม้แต่น้อย คือยังคงลักษณะเดิมไว้แต่ครั้งการตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ทุกประการ

โดยวิธีการประหารชีวิตตามพระไอยการกระบถศึก บันทึกและอธิบายเอาไว้อย่างละเอียดถึงวิธีการลงโทษประหาร 21 วิธีหรือ 21 สถาน ดังนี้

        สถาน 1 คือ ให้ต่อยกระบานศีศะ (กบาลศีรษะ) เลิกออก (เปิดออก) เสียแล้ว เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใหญ่ใส่ลงไปในมันสะหมอง (มันสมอง) ศีศะพลุ่งฟู่ขึ้นดั่งม่อ (หม้อ) เคี่ยวน้ำส้มพะอูม

        สถาน 2 คือ ให้ตัดแต่หนังจำระ (จาก) เบื้องหน้าถึงไพรปากเบื้องบนทั้งสองข้างเป็นกำหนด ถึงหมวกหู (ใบหู) ทั้งสองข้างเป็นกำหนด ถึงเกลียวคอชายผมเบื้องหลังเป็นกำหนด (หนังบริเวณคอถึงท้ายทอย) แล้วให้มุ่นกระหมวดผมเข้าทั้งสิ้น (ม้วนเข้าหากัน) เอาท่อนไม้สอดเข้าข้างละคน โยกคลอนสั่นเพิกหนังทั้งผมนั้นออกเสียแล้วเอากรวดทรายหยาบขัดกระบานศีศะชำระให้ขาวเหมือนพรรณศรีสังข์

        สถาน 3 คือ ให้เอาขอเกี่ยวปากให้อ้าไว้ แล้ให้ตามประทีบ (ดวงไฟ) ไว้ในปาก ไนยหนึ่ง (นัยหนึ่ง) เอาปากสิวอันคมนั้นแสะแหวะผ่าปากจนหมวกหู (ใบหู) ทั้งสองข้าง แล้วเอาขอเกี่ยวให้อ้าปากไว้ให้โลหิตไหลออกเต็มปาก

        สถาน 4 คือ เอาผ้าชุบน้ำมันพันให้ทั่วร่างกายแล้วเอาเพลิงจุด

สถาน 5 คือ เอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วทั้งสิบนิ้วแล้วเอาเพลิงจุด

        สถาน 6 คือ เชือดเนื้อให้เป็นแรงเป็นริ้วอย่าให้ขาดจากกัน ตั้งแต่ใต้คอลงไปถึงข้อเท้าแล้วเอาเชือกผูกจำ ให้เดินเหยียบริ้วเนื้อริ้วหนังแห่งตน ให้ฉุดคร่าตีจำให้เดินไปกว่าจะตาย

        สถาน 7 คือ เชือดเนื้อให้เนื่องด้วยหนังเป็นแร่งเป็นริ้ว ตั้งแต่ใต้คอลงมาถึงเอวและให้เชือดตั้งแต่เอวให้เนื่องด้วยหนังเป็นแร้งเป็นริ้วลงมาถึงข้อเท้ากระทำหนังเบื้องบนให้คลุมลงมาเหมือนนุ่งผ้า

        สถาน 8 คือ ให้เอาห่วงเหล็กสวมข้อศอกทั้งสองข้าง ข้อเข่าทั้งสองข้างให้มั่นแล้วเอาหลักสอดในวงเหล็กแย่งขึงตรึงลงไว้กับแผ่นดินอย่าให้้ไหวตัวได้ แล้วเอาเพลิงรน (ลน) ให้รอบตัวจนกว่าจะตาย

        สถาน 9 คือ ให้เอาเบ็ดใหญ่ที่มีคมสองข้างเกี่ยวทั่วร่างเพิก (เปิด) หนังเนื้อและเอ็นน้อยใหญ่ให้หลุดขาดออกมาจนกว่าจะตาย

        สถาน 10 คือ ให้เอามีดที่คมเชือดเนื้อให้ตกออกจากกายแต่ทีละตำลึง(นำเนื้อมาชั่งให้ได้น้ำหนักหนึ่่งตำลึง:มาตราวัดสมัยโบราณ) จนกว่าจะสิ้นมังสา (เนื้อ)

        สถาน 11 คือ ให้แล่สับทั่วร่างแล้ว เอาแปรงหวีชุบน้ำแสบกรีดครูดขูดเสาะหนังและเนื้อแลเอ็นน้อยใหญ่ให้ลอกออกให้สิ้นให้อยู่แต่ร่างกระดูก

        สถาน 12 คือ ให้นอนลงโดยข้างๆ หนึ่งแล้วให้เอาหลาวเหล็กตอกลงไปโดยช่องหูให้แน่นกับแผ่นดินแล้วจับขาทั้งสองข้างหมุนเวียนไปดังบุคคลทำบังเวียน (เวียนเทียน)

        สถาน 13 คือ ทำมิให้หนังพังหนังขาด แล้วเอาลูกสีลา (ลูกหิน) บดทุกกระดูกให้แหลกย่อย แล้วรวบผมเข้าทั้งสิ้น ยกขึ้นหย่อนลงกระทำให้เนื้อเป็นกองเป็นลอมแล้วพับห่อเนื้อหนังกับทั้งกระดูกนั้นทอดวางไว้ดั่งตั่งอันทำด้วยฟางซึ่งเอาไว้เช็ดเท้า

        สถาน 14 คือ ให้เคี่ยวน้ำมันให้เดือดพลุ่งพล่าน แล้วลาด**censor**ลงมาแต่ศีศะ (ศีรษะ) จนกว่าจะตาย

        สถาน 15 คือ ให้กักขังสุนัขร้ายทั้งหลายไว้ อดอาหารหลายวันให้เต็มอยากแล้วปล่อยให้กัดทึ้งเนื้อหนังกินให้เหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า

        สถาน 16 คือ ให้เอาขวานผ่าอกทั้งเป็นแหกออกดั่งโครงเนื้อ

        สถาน 17 คือ ให้แทงด้วยหอกทีละน้อยๆ จนกว่าจะตาย

        สถาน 18 คือ ให้ขุดหลุมฝังเพียงเอว แล้วเอาฟางปกลงคลุมร่างก่อนคลอกด้วยเพลิงพอหนังไหม้แล้วไถด้วยไถเหล็ก ให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่เป็นริ้วน้อยริ้วใหญ่

        สถาน 19 คือ ให้เชือดเนื้อล่ำออกทอดด้วยน้ำมัน เหมือนทอดขนมให้กินเนื้อตัวเองจนกว่าจะตาย

        สถาน 20 คือ ให้ตีด้วยตะบองสั้นตะบองยาวจนกว่าจะตาย

        สถาน 21 คือ ตีด้วยหวายที่มีหนามจนกว่าจะตาย


เกร็ดความรู้ เรื่องเล่าจากลานประหาร


การประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรงที่สุดในทุก ๆ ประเทศ ที่มีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งถ้าหากใครได้อ่านหรือศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ซักครั้ง คงจะรู้สึกไม่ต่างกันหรอกค่ะว่า แม้ว่าในแต่ละประเทศจะมีเครื่องมือประหารชีวิตที่แตกต่างกันออกไป แต่ความรุนแรง หรือความซาดิสม์นั้นไม่ได้ต่างกันเลย เพราะไม่ว่าจะใช้เครื่องมือไหน ๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีจุดประสงค์เดียวกัน นั่นคือทรมานคนผิดอย่างเลือดเย็นแล้วปล่อยให้เจ็บปวดตายไปในที่สุด ในประเทศไทยก็เช่นกัน โทษประหารที่เคยทำกันมาตั้งแต่อดีตนั้นขึ้นชื่อว่าโหดใช่ย่อย

เริ่มตั้งแต่สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์


วิธีการประหารชีวิตจะเน้นความทรมานชนิดที่ได้ยินแล้วยังขนลุก ไม่ว่าจะเป็นการเอาน้ำมันเดือดราดหัวจนตาย เอามีดและขวานผ่าอกแหวกตับไตไส้พุงทั้งเป็นจนตาย เอาเบ็ดใหญ่เกี่ยวเนื้อให้หลุดทีละส่วนจนตาย เอามีดคม ๆ แล่เนื้อลอกหนังออกทีละนิดจนตาย เอาหอกค่อย ๆ ทิ่มแทงจนตาย หรือฝังดินครึ่งตัวแล้วเผาส่วนบนจนทรมานตาย

ซึ่งโทษแสนทรมานในสมัยนั้น ก็จะตัดสินจากความผิดที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่นถ้าใครเผาบ้านเมือง ก็จะถูกประหารด้วยการเอาผ้าชุบน้ำมันพันรอบตัวแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น อย่างงี้เป็นต้น และที่สำคัญการประหารชีวิตทุกรูปแบบก็จะต้องทำกันแบบโจ่งแจ้งต่อหน้าชาวบ้านมากมาย เพื่อให้คนเกรงกลัว และมันก็ได้ผลดีเลยล่ะค่ะ เพราะเวลาที่มีการประหารนักโทษซักคน บ้านเมืองก็สงบสุขไปพักใหญ่ทีเดียว เพราะไม่มีใครกล้าทำความผิด ไม่มีใครอยากถูกลงโทษอย่างทรมานอย่างที่ตัวเองไปเห็นมา

สมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์


การประหารด้วยวิธีทรมานสารพัดก็เริ่มค่อย ๆ หายไป เหลืออยู่แค่วิธีเดียวง่าย ๆ นั่นคือ การตัดคอหรือกุดหัวเท่านั้น เป็นวิธีฉับเดียวดับ ไม่ทันได้ทรมานก็ตายแล้ว แถมก่อนหน้าวันประหารก็ยังมีการเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำอย่างดีอีก และพอถึงวันประหารนักโทษก็ถูกปิดตา ไม่ต้องเห็นบาดแผล ไม่ต้องรู้ว่าใครกำลังจะทำอะไรเรา ไปแบบสบาย ๆ เลยทีเดียว

ในการประหารนักโทษ 1 คน เค้าจะใช้เพชฌฆาตถึง 3 คน ซึ่งโดยปกติแล้ว ถ้าเพชฌฆาตดาบ 1 จะพลาด ก็พลาดมากที่สุดแค่ตัดคอแล้วตายแต่คอดันไม่ขาด ซึ่งแบบนี้เพชฌฆาตดาบ 2 ก็จะรีบเข้ามาฟันให้ขาดทันที ถ้ายังไม่ขาดอีกก็มีดาบ 3 สำรองไว้อีก ต้องเอาให้ขาดอย่างแท้จริงเพื่อที่จะเอาหัวไปเสียบประจานนั่นเอง ส่วนร่างกายก็มอบให้ญาตินำไปทำพิธีต่อไป

ในกรณีที่นักโทษเป็นเชื้อพระวงศ์หรือกษัตริย์ ก็จะมีวิธีเฉพาะคือการทุบด้วยท่อนจันทน์ ที่ถือเป็นไม้หอม เป็นการให้เกียรตินักโทษ โดยการประหารด้วยท่อนจันทน์นี้ จะใช้วัดปทุมคงคาเป็นลานประหาร ส่วนวิธีการ ก็คือ จะนำร่างของผู้ถูกประหารสวมด้วยถุงแดงแล้วรัดถุงให้แน่น เพื่อไม่ให้ใครแตะต้องพระวรกาย และไม่ให้ใครเห็นพระศพด้วย จากนั้นเพชฌฆาตที่ได้รับนามเฉพาะว่า "หมื่นทะลวงฟัน" ก็จะใช้ไม้จันทน์ขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายสากตำข้าวทุบลงไปสุดแรงบริเวณพระเศียรหรือพระนาภี เสร็จแล้วก็นำไปฝังในหลุม 7 คืนเพื่อให้มั่นใจว่าสิ้นพระชนม์แล้วจริง ๆ ก่อนขุดขึ้นมาประกอบพิธีต่อไป

และหากใครสงสัยว่าทำไมไม่ใช้วิธีเปิดผ้าดูว่าสิ้นแล้วหรือไม่ ก็อย่างที่บอกไปค่ะว่าไม่ว่าจะอย่างไร หลังจากนำนักโทษใส่ถุงแดงแล้วก็ห้ามเปิดให้ใครเห็นหรือแตะต้องพระวรกายโดยตรงได้เป็นอันขาด

แต่!วิธีการประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ เลิกล้มไปในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากมีการประกาศใช้กฎหมาย ร.ศ. 127 ว่า ให้ประหารชีวิตเชื้อพระวงศ์ด้วยวิธีเดียวกันกับสามัญชน ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นนักโทษ และในที่สุด ในปี 2477 ก็ได้ล้มเลิกการประหารชีวิตด้วยการตัดหัวไป เปลี่ยนเป็นการใช้ปืนยิงแทน โดยวิธีการยิงปืนประหารนี้ ก็จะมีขั้นตอนคล้ายกับการประหารชีวิตด้วยการตัดหัว ต่างที่การยิงปืนประหาร จะทำในห้องประหารมิดชิด ไม่มีการเรียกประชาชนมามุงดูเหมือนกับการประหารชีวิตด้วยการตัดหัวอีกต่อไป

การประหารชีวิตด้วยปืนทำกันมาได้ไม่นานนัก เพราะเมื่อปี 2545 ได้เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตด้วยปืน มาเป็นการฉีดยาแทน ซึ่งการฉีดยาจะมี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นแรกจะฉีดยาให้นักโทษสลบก่อน จากนั้นค่อยฉีดยาหยุดการทำงานของปอดและกระบังลม และสุดท้ายก็จะฉีดยาที่ทำให้หัวใจหยุดเต้น เป็นอันเสร็จพิธี เรียกว่าสบายกว่าวิธีไหน ๆ ไม่ต้องตื่นเต้นว่าจะถูกสับหัวหรือยิงปืนเมื่อไหร่ และวิธีนี้ก็ยังเป็นวิธีที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้คือวิวัฒนาการของการประหารชีวิตในสยาม ที่ดูเหมือนจะลดความทรมานลงทุกวัน ๆ ขณะเดียวกันที่สถิติการประหารชีวิตก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ทั้งในไทยและหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งที่เป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่เพราะว่าคนเรามีคุณธรรมกันมากขึ้นแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะบทลงโทษในสังคมทุกวันนี้มันเบาลงเรื่อย ๆ ต่างหาก..

ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคที่บทลงโทษในสังคมเบาลงทุกวัน ขณะที่โจรผู้ร้ายมีมากขึ้นแบบนี้ ก็ยังมีคนในหลายประเทศออกโรงต่อต้านการประหารชีวิตกันอย่างมากมาย เพราะเห็นว่ามันโหดร้าย ก็ไม่แน่ว่า..

บางที โทษประหารอาจถูกล้มเลิกไปในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าก็เป็นได้ และถ้าวันนั้นมาถึงเมื่อไหร่ สังคมก็คงวุ่นวายขึ้นน่าดู

-สงครามเวียดนาม

-สงครามเวียดนาม

สงครามเวียดนาม

เอกราชของขบวนการชาตินิยมเวียดมินห์ ต่อต้านอำนาจของจักรวรรดินิยมเดิมคือ ฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสถอนตัวสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนที่และสนับสนุนเวียดนามใต้ ความขัดแย้งจึงกลายสงครามตัวแทนในช่วงสงครามเย็น ระหว่างกองกำลังเวียดนามใต้นิยมประชาธิปไตยที่มีสหรัฐสนับสนุนกับกองกำลังนิยมเวียดนามเหนือนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตหนุนหลัง

ภูมิหลังสงครามเวียดนาม


          เวียดนามเคยป็นเมืองขึ้นของจีนสมัยโบราณกว่าร้อยปี จึงรับอิทธิพลความเชื่อลัทธิขงจื๊อและวัฒนธรรมจีนมาผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมืองของตน ต่อมาในคริสต์สตวรรษที่ 18-19 ฝรั่งเศสขยายอำนาจมายึดครองเวียดนาม กัมพูชาและลาว รวมเรียกว่าอินโดจีนฝรั่งเศส ต่อมาได้มีขบวนการชาตินิยมเรียกร้องเอกราชแต่ถูกฝรั่งเศสปราบปรามอย่างรุนแรง ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่มีผู้นำคนสำคัญที่สามารถนำความสำเร็จมาให้ขบวนการชาตินิยมเวียดนามหรือเวียดมินห์ คือ โฮชิมินห์

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กองกำลังชาตินิยมเวียดมินห์ให้การสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรโดยหวังจะได้เอกราชเป็นการตอบแทน แต่ฝรั่งเศสไม่ยินยอมและกลับมาครอบครองอินโดจีนอีกครั้งหลังสงครามโลก ทำให้เกิดการสู้รบกันตั้งแต่ ค.ศ. 1946 และสิ้นสุดลงในค.ศ 1954 เมื่อฝรั่งเศสแพ้ในสมรภูมิเดียนเบียนฟู มีการทำสัญญาสงบศึกที่ปารีส ฝรั่งเศสถอนตัวจากอินโดจีน มีผลให้ประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชาได้รับเอกราช และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อรวมเวียดนาม แต่ขณะที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง ให้แบ่งเวียดนามเป็นสองส่วนที่เส้นขนานที่ 17 เวียดนามเหนือนำโดยโฮชิมินห์ ศูนย์กลางอยู่ที่ฮานอยและเวียดนามใต้ นำโดยกษัตริย์เบาได๋ ศูนย์กลางอยู่ที่ไซ่ง่อน

สหรัฐอเมริกากับสงครามเวียดนาม

          การแทรกแซงของสหรัฐเริ่มต้นต่างจากการเข้าสู่สงครามเกาหลี เนื่องจากปัญหาการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรวมชาติเวียดนาม เพราะเกรงว่าชาวเวียดนามจะเลือกโฮชิมินห์ ซึ่งเป็นวีรบุรุษกู้ชาติเวียดนามทั้งสองส่วนมีวิถีชีวิตต่างกันและนิยมความคิดทางการเมืองไม่ตรงกัน  เวียดนามเหนือส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรยากจน เสียเปรียบเจ้าของที่ดิน จึงนิยมคอมมิวนิสต์ ทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตและจีนคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่รบกับฝรั่งเศส สื่งที่สำคัญคือ ความนิยมในตัววีรบุรุษ ผู้นำขบวนการชาตินิยมคือ โฮชิมินห์  หากมีการเลือกตั้งประชาชนทั่วไปมีแนวโน้มจะเลือกโฮชิมินห์ วีรบุรุษของตน โดยไม่สนใจลัทธิการเมือง สหรัฐจึงเข้ามาสนับสนุนเวียดนามใต้แทนฝรั่งเศส เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เพราะเกรงว่าผู้นิยมคอมมิวนิสต์จะได้ชัยชนะและทำให้เวียดนามเป็นคอมมิวนิสต์ การยกเลิกการเลือกตั้งประธานาธิบดีทำให้เวียดนามเหนือประกาศสงครามกับเวียดนามใต้อีกครั้ง เพื่อใช้กำลังรวมเวียดนามเป็นประเทศเดียวกัน สหรัฐมีความเชื่อฤษฎีโดมิโน คือ เมื่อชาติหนึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ ชาติที่อยู่ใก้ลเคียงจะถูกคุกคามและตกอยู่ในอิทธิพลคอมมิวนิสต์ด้วย เช่นเดียวกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออก  จึงเข้ามาปกป้องประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มิให้เป็นไปตามนโยบายวาทะทรูแมนและแผนการมาร์แชล

          สหรัฐอเมริกาเริ่มส่งที่ปรึกษาทางทหารและส่งอาวุธยุทธปกรณ์ เพื่อพัฒนากองทัพให้กับเวียดนามใต้ ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีไอเซ็นเฮาว์และประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี ต่อมาเมื่อเคเนดีเสียชีวิตจากการลอบสังหารที่ดัลลัส เท็กซัส รองประธานาธิบดีจอห์นสันได้รับตำแหน่งผู้นำสหรัฐแทน ได้ส่งกำลังพลนับแสนคนพร้อมอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูง  เข้ามาสกัดกั้นการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม ทำให้สงครามเวียดนามขยายตัวและรุนแรงมากขึ้น นับแต่ ค.ศ. 1965 เป็นต้นมา

          ฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือมีกองทัพเวียดมินห์  สำหรับการรบเต็มรูปแบบและมีขบวนการเวียดกง เป็นประชาชนทั่วไปที่นิยมคอมมิวนิสต์หรือถูกบังคับให้เป็นคอมมิวนิสต์ ปฏิบัติการแทรกซึมและบ่อนทำลายอยู่ทั่วไปในเวียดนามใต้ ทำให้ยากต่อการปราบปราม และทำให้สื่อต่าง ๆเสนอภาพเสมือนทหารสหรัฐรังแกประชาชนเวียดนามที่อ่อนแอกว่า

          ในช่วงแรกของสงคราม เวียดนามเหนือได้ใช้ยุทธวิธียกกำลังทำสงครามเต็มรูปแบบกับกองทัพสหรัฐ บุกเข้ามาใต้เส้นขนานที่ 17 และสังหารประชาชนอย่างโหดเหี้ยม แม้จะไม่ได้ชัยชนะแต่ทำให้ชาวเวียดนามใต้เกิดความเกรงกลัวอำนาจของคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนืออย่างมาก จึงมักยอมเข้ากับ เวียดนามในฐานะกองกำลังเวียดกง ปฏิบัติการแทรกซึม บ่อนทำลายในเวียดนามใต้

          สหรัฐและพันธมิตรในองค์การ SEATO ได้ระดมความร่วมมือทางทหารเข้าไปรบในเวียดนามแต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะส่วนใหญ่เวียดนามเหนือและเวียดกงรบแบบกองโจร ลอบวางระเบิดและซุ่มโจมตี ทำให้ทหารเวียดนามใต้และทหารนาวิกโยธินสหรัฐเสียชีวิตจำนวนมาก จึงใช้การปราบปรามอย่างรุนแรง เช่น  ยิงทิ้งผู้ที่คาดว่าเป็นเวียดกง การเผาทำลายหมู่บ้าน ตลอกจนการทิ้งระเบิดปูพรมตามจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เช่น เมืองท่าและชายแดนเวียดนาม-กัมพูชา เพื่อตัดเส้นทางการลำเลียงทหารและอาวุธจากเวียดนามเหนือสู่เวียดนามใต้ผ่านทางกัมพูชา ทำให้เกิดความเสียหายต่อพลเรือนจำนวนมหาศาล ส่งผลให้ทั่วโลกประนามการกระทำของสหรัฐ

CIA ของสหรัฐยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลเวียดนามใต้บ่อยครั้ง แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการคอรับชั่นในรัฐบาลที่ตั้งขึ้นได้ ทำให้งบประมาณที่สหรัฐให้ไปปรับปรุงกองทัพหรือพัฒนาชนบท กลับไปตกอยู่ในมือของข้าราชการระดับสูงและนายทหารของเวียดนามใต้ การรบในเวียดนามซึ่งทำให้สหรัฐสูญเสียทหารจำนวนมาก เพราะไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศและมีความกดดันจากการเผชิญกับเวียดกงที่รบในประเทศตนเอง ยากต่อการเอาชนะ   
       คนหนุ่มสาวในสหรัฐจึงเดินขบวนเรียกร้องสันติภาพทั่วประเทศ เรียกร้องให้ถอนทหารจากสงครามเวียดนาม   เมื่อมีการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีจอห์นสันจึงไม่ลงสมัครอีก ทำให้นิกสันซึ่งเสนอนโยบายถอนทหารสหรัฐออกจากเวียดนามและลดบทบาททางทหารทั่วโลกได้รับชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อมา นิกสันจึงเจรจากับจีน สนับสนุนโยบายจีนเดียวแลกกับการให้จีนยอมรับการถอนทหารจากเวียดนามตั้งแต่ ค.ศ. 1973  หลังจากนั้นสหรัฐได้ตกลงถอนทหารจนสิ้นสุดในเดือนเมษายน 1975 กองทัพเวียดนามเหนือเข้ายึดครองไซง่อนได้สำเร็จและเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น โฮชิมินห์ซิตี

สงครามเย็น( Cold War )

สงครามเย็น( Cold War ) 

สงครามเย็นหมายถึง การประจันหน้าด้านอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้นำลัทธิเสรีประชาธิปไตยกับสหภาพโซเวียตประเทศ ผู้นำลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นการปะทะกันทุก ๆ วิถีทาง ยกเว้นด้านการทหาร การขยายอำนาจในสงครามเย็นจึงเป็นลักษณะการแสวงหาพรรคพวกร่วมอุดมการณ์และแข่งขันกันเป็นมหาอำนาจทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ โดยไม่ทำสงครามกันอย่างเปิดเผย แต่เป็นการสนับสนุนให้ประเทศที่เป็นพวกของแต่ละฝ่ายทำสงครามตัวแทน 

สาเหตุของสงครามเย็น 

สหรัฐอเมริกาได้ประกาศวาทะทรูแมน (Trueman Doctrine)ในค.ศ 1947 มีสาระสำคัญว่า ...สหรัฐอเมริกาจะโต้ตอบการคุกคามของประเทศคอมมิวนิสต์ทุกรูปแบบและทุกสถานที่ แล้วแต่สหรัฐจะเห็นสมควร โดยไม่จำกัด ขนาด เวลา และสถานที่ ....จะให้ความช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ให้พ้นจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่กรีซและตุรกีเป็นตัวอย่าง สืบเนื่องมาจากสหภาพโซเวียตเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และแทรกแซงให้ความช่วยเหลือกบฎในตุรกีและกรีกเพื่อจัดตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ การประกาศวาทะทรูแมนจึงเป็นจุดเริ่มต้นสงครามเย็นที่แท้จริง ต่อมาสหรัฐได้ประกาศแผนการมาร์แชล(Marshall Plan) เพื่อให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกับยุโรปตะวันตก

ขณะเดียวกันสหภาพโซเวียตได้ตอบโต้ด้วยการจัดตั้ง องค์การโคมินฟอร์ม ( Cominform ) ใน ค.ศ. 1947 เพื่อขยายลัทธิคอมมิวนิสต์สู่ประเทศต่าง ๆ และสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก ต่อมาได้ซึ่งพัฒนามาเป็นองค์การ โคมินเทอร์น (Comintern)

การเผชิญหน้าทางทหาร ใน ค.ศ. 1949 สหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization ) ประกอบด้วยภาคี 12 ประเทศ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักซัมเบอร์ก สหรัฐอเมริกา แคนาดา เดนมาร์ค ไอซ์แลนด์ อิตาลี นอร์เวย์และเปอร์ตุเกส ต่อมาตุรกีและกรีซ ได้เข้าเป็นสมาชิก และในค.ศ. 1955 เยอรมนีตะวันตกได้เข้าเป็นสมาชิกด้วย

ในค.ศ.1955 สหภาพโซเวียตได้ชักชวนให้ประเทศในยุโรปตะวันออกลงนามในสนธิสัญญาวอร์ซอร์ ( Warsaw Pact)ซึ่งเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางทหาร ประเทศภาคี คือ สหภาพโซเวียต เยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี รูมาเนีย บัลกาเรียและเชคโกสโลวาเกีย
วิกฤตการณ์เบอร์ลิน(The Berlin Blockade) ค.ศ.1948 

เบอร์ลินถูกแบ่งเป็น 4 ส่วนแบ่งเขตยึดครองคือ ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ได้ส่วนยึดครองทางเบอร์ลินตะวันตกและเยอรมนีตะวันตก สหภาพโซเวียตได้เบอร์ลินส่วนตะวันตกและเยอรมนีตะวันตก เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองสหภาพโซเวียตได้ประกาศปิดล้อมเบอร์ลินไม่ให้สัมพันธมิตรเข้าออกเบอร์ลินในวันที่ 19 มิถุนายน 1948 ถึง พฤษภาคม 1949 มิให้มีการติดต่อกับภายนอก เพื่อบังคับให้มหาอำนาจตะวันตกละทิ้งเบอร์ลิน โดยปิดเส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำ ตัดกระแสไฟฟ้าประเทศสัมพันธมิตรและคณะมนตรีความมั่นคงแก้ปัญหาโดยการใช้เครื่องบินบรรทุกเครื่องอุปโภคบริโภคไปโปรยให้ชาวเบอร์ลินตะวันตกเป็นเวลากว่า 1 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การแบ่งแยก เยอรมันนีเป็น 2 ประเทศและแบ่งเบอร์ลินเป็น 2 ส่วนอย่างถาวร

การแบ่งเขตยึดครองเบอร์ลินของของมหาอำนาจ 4 ประเทศ สร้างกำแพงยาวกว่า 27 ไมล์
กั้นระหว่างเบอร์ลินในค.ศ.1961 เรียกกำแพงเบอร์ลิน
ในค.ศ.1949 เยอรมนีตะวันตกได้ตั้งเป็นประเทศ ชื่อว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและสหภาพโซเวียตได้ตั้งเขตปกครองของตนในเยอรมนีตะวันออกเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน เมื่อแบ่งประเทศแล้ว ชาวเยอรมนีตะวันออกได้อพยพมาอยู่ในเขตตะวันตกมากขึ้นตลอดเวลา ทำให้รัสเซียต้อง สร้างกำแพงยาวกว่า 27 ไมล์ กั้นระหว่างเบอร์ลินใน ค.ศ.1961 เรียก กำแพงเบอร์ลิน

เครื่องบินสัมพันธมิตรขนส่งอาหารให้กับประชาชนในเบอร์ลินตะวันตก

กำแพงเบอร์ลิน
กำแพงเบอร์ลินสร้างในปี ค.ศ. 1961 แบ่งเบอร์ลินตะวันตกและตะวันออก ออกจากกัน เป็นสัญลักษณ์สำคัญหนึ่งของสงครามเย็น และถูกทำลายไปเมื่อ ค.ศ. 1989 ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1990 โดยมิคาอิล กอบาชอฟ ยินยอมให้เยอรมันทั้งสองตัดสินใจอนาคตตนเอง โดยสหภาพโซเวียตจะไม่เข้าแทรกแซงจึงมีการรวมเยอรมันเป็นประเทศเดียวกันอย่างเป็นทางการ เรียกว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 

48-สงครามโลกครั้งที่ 2

48-สงครามโลกครั้งที่ 2

แผนที่สงครามโลกครั้งที่ 2ในยุโรป
สงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามโลกครั้งที่สองเป็นความขัดแย้งระหว่างคู่สงคราม คือ ฝ่ายอักษะ ประกอบด้วย เยอรมนี อิตาลีและญี่ปุ่น อีกฝ่ายหนึ่งได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ต่อมาจึงมีประเทศอื่นๆ เข้าร่วม สงคราม ทำให้สงครามขยายไปทั่วโลก 

สาเหตุเริ่มต้นของสงคราม 

สนธิสัญญาสันติภาพที่ไม่เป็นธรรม 

ระบุให้ประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย ค่าปฏิกรรมสงครามและเสียดินแดน เช่นสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เยอรมนี ต้องเสียอาณานิคม ต้องคืนแค้วนอัลซาล – ลอเรนแก่ฝรั่งเศส โปเซนและปรัสเซียตะวันตกให้โปแลนด์ มอรสเนท ยูเพนและมัลเมดีให้เบลเยี่ยม ชเลสวิคและโฮลสไตน์ให้เดนมาร์ก แคว้นซูเดเตนให้เชคโกสโลวาเกีย และ เมเมลให้ลิทัวเนีย จ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ปีละ 5 พันล้านดอลลาร์ ถูกจำกัดกำลังทหารมีทหารได้ไม่เกิน 100,000 คน ห้ามเกณฑ์ทหารเป็นต้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขี้น ฮิตเลอร์และพรรคนาซีได้ปลุกระดมต่อต้านการเสียค่าปฏิกรรมสงคราม และนำความอดยาก ยากจนมาให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง 
ความอ่อนแอของ

 องค์การสันนิบาตชาติ ที่ไม่สามารถบังคับประเทศที่เป็นสมาชิกและไม่ปฏิบัติตามสัตยาบันได้ 

ความแตกต่างทางด้านการปกครอง

กลุ่มประเทศฟาสซิสต์มีความเข้มแข็งมากขึ้น ได้รวมกันเป็น มหาอำนาจอักษะ (Berlin-Rome-Tokyo Axis ) จุดประสงค์แรก คือเพื่อต่อต้านรัสเซีย ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ ต่อมาได้ขยายไปสู่การต่อต้านชนชาติยิวและนำไปสู่ความขัดแย้งกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร 

บทบาทของสหรัฐอเมริกา

สหรัฐปิดประเทศโดดเดี่ยว สมัยประธานาธิบดีมอนโร ตามแนวคิดในวาทะมอนโร สหรัฐจะไม่แทรกแซงกิจการประเทศอื่นและไม่ยอมให้ประเทศอื่นมาแทรกแซงกิจการของตนเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ประชาชนจึงเลือกพรรคเดโมแครตเข้ามาเป็นรัฐบาลปกครองประเทศโดยประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี รุสเวลท์ ได้รับเลือกต่อกันถึงสี่สมัย ( ค.ศ.1933 – 1945 )

ชนวนที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ฉนวนโปแลนด์(Polish Corridor) มีชาวเยอรมนีอาศัยอยู่มาก เยอรมนีเสียดินแดนส่วนนี้ให้แก่โปแลนด์ตามสนธิสัญญาแวร์ซาย์ และฉนวนโปแลนด์ยังแบ่งแยกดินแดนเยอรมนีเป็นสองส่วน คือส่วนปรัสเซียตะวันตกและปรัสเซียตะวันออก ฮิตเลอร์ ขอสร้างถนนผ่านฉนวนโปแลนด์ไปปรัสเซียตะวันออก อังกฤษและฝรั่งเศสคัดค้าน ฮิตเลอร์จึงยกเลิกสัญญาที่เยอรมนีจะไม่รุกรานโปแลนด์ และทำสัญญาไม่รุกรานกับสหภาพโซเวียต เยอรมนีเริ่มสงครามด้วยการบุกโปแลนด์ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 แบบสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg)

ฉนวนโปแลนด์
อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศเข้าร่วมสงคราม ด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ญี่ปุ่นบุกแมนจูเรียในปี ค.ศ.1931 และเสนอแผนการที่จะสถาปนา “วงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา” เพื่อผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่ อ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 สหรัฐจึงเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยประกาศสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร ขณะเดียวกันญี่ปุ่นเปิดสงครามในตะวันออกเฉียงใต้หรือเรียกว่า “สงครามมหาเอเชียบูรพา”

สงครามโลกในยุโรปสิ้นสุดลงเมื่อกองทัพสัมพันธมิตรบุกเข้าเบอร์ลินในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1944 และเมื่อสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ค.ศ.1945 สงครามโลกจึงสิ้นสุดลง

สัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ ชายฝั่งแคว้นนอร์มังดี วัน V-E DAY
ผลของสงครามโลกครั้งที่สอง 

เกิดองค์การสหประชาชาติเพื่อดำเนินงานแทนองค์การสันนิบาตชาติ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสันติภาพของโลกและให้กลุ่มสมาชิกร่วมมือช่วยเหลือกัน นับว่ามีความเข้มแข็งกว่าเดิม เพราะสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งและมีกองทหารของสหประชาชาติ

ทำให้เกิดสงครามเย็นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้น ประเทศสหภาพโซเวียต ปกครองโดยสมัยสตาร์ลินมีนโยบายขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ไปสู่ ยุโรปตะวันออก และเยอรมนีตะวันออก ซึ่งมีทหารรัสเซียเข้าปลดปล่อยดินแดนเหล่านี้จากอำนาจฮิตเลอร์ในสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่สหรัฐต้องการสกัดกั้นการขยายตัวดังกล่าว และเผยแผ่การปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะดินแดนอาณานิคมที่ประกาศเอกราช เป็นประเทศใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนเกิดสภาวการณ์ที่เรียกว่า สงครามเย็น( Cold War )

47-สงครามโลกครั้งที่ 1

47-สงครามโลกครั้งที่ 1

แผนที่สงครามโลครั้งที่ 1แสดงการรบในยุโรปและตะวันออกกลาง
สงครามโลกครั้งที่ 1

            เริ่มใน ค.ศ. 1914 สิ้นสุดใน ค.ศ.1918 เป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ 2 ค่าย คือ ประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย – ฮังการี และอิตาลี (ผู้นำสำคัญ คือบิสมาร์ค แห่งเยอรมนี) กับฝ่าย ประกอบด้วย Triple Entente ได้แก่ บริเตนใหญ่ ( อังกฤษ ) ฝรั่งเศส และรัสเซีย การรบเริ่มขึ้นหลังการลอบสังหารมกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย – ฮังการี และสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของมหาอำนาจกลาง หรือ Triple Alliance มีการทำสนธิสัญญาแวร์ซายส์ บังคับให้เยอรมนีและพันธมิตรเสียค่าปฏิกรรมสงครามชดใช้จำนวนมหาศาลและเสียดินแดนที่เป็นอาณานิคมให้แก่ฝ่าย Triple Entente

สาเหตุสงครามโลกครั้งที่ 1 


ลัทธิชาตินิยม

 
การเกิดลัทธิชาตินิยมจากคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ทำให้เกิดระบบรวมรัฐชาติ สร้างระบบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง รัฐชาติในประเทศยุโรปต่างแสวงหาความเป็นมหาอำนาจ ทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ รัฐชาติหมายถึง รัฐหรือประเทศที่ประชาชนมีความรู้สึกผูกพันกัน มีความสามัคคี ภาคภูมิใจในความเป็นชาติ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ความรักชาติที่รุนแรงจนเป็นลัทธิชาตินิยม ทำให้เชื่อว่าชาติตนเหนือกว่าชาติอื่น ผลักดันชาติของตนได้เปรียบชาติอื่นไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ หรือการทหาร นำไปสู่การแข่งขันอำนาจกัน จนกลายเป็นสงคราม เช่น สงครามการรวมอิตาลี การรวมเยอรมนี จนถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง 

ลัทธิจักรวรรดินิยม 

ลัทธิชาตินิยมนำไปสู่ลัทธิจักรวรรดินิยม ลัทธิจักรวรรดินิยม หมายถึงประเทศที่พัฒนา แล้วประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ การทหาร และวิทยาศาสตร์ เข้าครอบครอง ที่ด้อยพัฒนากว่า ลัทธิจักรวรรดินิยมเริ่มจากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ต้องการวัตถุดิบและตลาด มหาอำนาจยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ปรัสเซีย ( เยอรมนี) เนเธอร์แลนด์ ต่างแข่งขันกันขยายอำนาจในการครอบครองดินแดนในทวีปเอเชียอเมริกากลางและอัฟริกาโดยครอบงำทาวัฒนธรรม และวิถีชีวิต เป็นแหล่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้เมืองแม่ 

การแบ่งกลุ่มพันธมิตรยุโรป 

นโยบายการรวมกลุ่มที่มีผลประโยชน์ตรงกัน เริ่มต้นใน ค.ศ. 1907 เมื่อ เยอรมัน และออสเตรีย-ฮังการีลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรไตรมิตร (Triple Alliance )ประจันหน้ากับรุสเซีย เนื่องจากเยอรมนี ต้องการไม่ให้รัสเซียเป็นใหญ่ในชนเผ่าสลาฟแหลมสมุทรบอลข่าน ต่อมามีอิตาลีมาร่วมประเทศ เพราะไม่พอใจฝรั่งเศสที่แย่งครอบครองตูนิเซีย ในฐานะรัฐในอารักขา ฝ่ายออสเตรีย – ฮังการีซึ่งต้องการเป็นใหญ่ในแหลมบอลข่านเช่นกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียลงนามในสนธิสัญญาสันธไมตรีไตรมิตร (Triple Entente ) ค.ศ. 1907และเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นด้วย 

ความขัดแย้งเรื่องแหลมบอลข่าน 

สาเหตุสำคัญเกิดจากการที่ออสเตรีย – ฮังการีขัดแย้งกับเซอร์เบีย เรื่องการสร้างเขตอิทธิพลในแหลมบอลข่าน เยอรมนีสนับสนุนออสเตรีย – ฮังการี ขณะที่รัสเซียสนับสนุนเซอร์เบีย ความขัดแย้งขยายความรุนแรงเป็นสงครามระหว่างรัฐในแหลมบอลข่าน มหาอำนาจจึงมีโอกาสแทรกแซงและตั้งกลุ่มพันธมิตร 

จุดระเบิดของสงครามโลกครั้งที่ 1 มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการีคือ อาร์ค ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ กับพระชายาโซเฟีย ถูกลอบปลงพระชนม์ในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1914ที่เมืองซาราเจโว ขณะเสด็จเยือนเมืองหลวงของบอสเนีย โดยคนร้ายชื่อ กาฟริโล ปรินซิพ นักศึกษาชาวบอสเนียสัญชาติเซอร์เบีย ออสเตรียเรียกร้องให้เซอร์เบียปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง เซอร์เบียปฏิเสธออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามกับเซอร์เบีย 28 กรกฎาคม 1914 รัสเซียแสดงตนว่าเป็นผู้พิทักษ์เผ่าสลาฟจึงระดมพล เยอรมนีประกาศสงครามกับฝรั่งเศสและรัสเซีย ต่อมาอังกฤษเข้าสู่สงครามเมื่อเยอรมนีบุกเบลเยียม และญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามต่อเยอรมนี เพราะมุ่งหวังในอาณานิคมของเยอรมนีในจีน 

ผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 

            1. การสถาปนาองค์การสันนิบาตชาติ แต่มีจุดอ่อนในการรักษาสันติภาพ เพราะรัสเซีย ถอนตัวและสหรัฐอเมริกาไม่เข้าเป็นสมาชิก ทั้งยังไม่มีกองทหารรักษาสันติภาพด้วย 

            2. เกิดสนธิสัญญาสันติภาพที่ประเทศผู้ชนะร่างขึ้นมี 5 ฉบับ 

- สนธิสัญญาแวร์ซายส์ทำกับเยอรมนี เยอรมนีต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลและเสียดินแดนหลายแห่ง ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก ราคาสินค้าตกต่ำ ในเยอรมนีไม่สามารถใช้หนี้สงครามได้และมองสนธิสัญญานี้ว่าไม่เป็นธรรม จนฮิตเลอร์นำมาประณามเมื่อเริ่มมีอำนาจ 

- สนธิสัญญาแซงต์ แยร์แมงทำกับออสเตรีย 
- สนธิสัญญาเนยยี ทำกับบัลแกเรีย 
- สนธิสัญญาตริอานองทำกับฮังการี 
- สนธิสัญญาแซฟส์ทำกับตุรกี ต่อมาเกิดการปฏิวัติในตุรกีจึงมีการทำสนธิสัญญาใหม่เรียกว่าสนธิสัญญาโลซานน์ 

            3. ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และความยากจนต่อเนื่องจากก่อนสงคราม นำไปสู่การที่เลนิน ปฏิวัติเปลี่ยนประเทศรัสเซียเป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 

            4. ในยุโรปมีรูปแบบของรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้แก่รัสเซีย เลนินปฏิวัตินำระบบคอมมิวนิสต์มาปกครองรัสเซียใน ค.ศ. 1917 และในค.ศ. 1924 -1953 สตาลินได้ใช้ระบบเผด็จการที่เน้นการปราบศัตรูทางการเมืองและการผูกขาดอำนาจด้วยความรุนแรงมากขึ้น ส่วนในเยอรมนี ฮิตเลอร์ได้เป็นผู้นำ ใช้ระบบเผด็จการโดยอำนาจพรรคนาซี ตั้งแต่ ค.ศ.1933 และในอิตาลี มุสโสลินีได้ตั้งพรรคฟาสซิสต์ขึ้นในเวลาต่อมา 

            5. เกิดประเทศใหม่ 7 ประเทศเนื่องมาจากการแยกดินแดนได้แก่ ฮังการี ยูโกสลาเวีย โปแลนด์ เชคโกสโลวาเกีย ลิทัวเนีย แลตเวีย แอสโตเนีย

41-สังคมวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปฏิรูปบ้านเมือง

41-สังคมวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปฏิรูปบ้านเมือง

สังคมวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปฏิรูปบ้านเมือง

สังคมวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปฏิรูปบ้านเมือง
การปรับปรุงทางด้านสังคมในสมัยรัชกาลที่ 4 (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
     ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยเริ่มมีการปรับตัวทางด้านสังคมและวัฒนธรรมให้เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณีทางตะวันตกภายหลังจากที่ไทยทำสนธิสัญญาทางการค้ากับ     ชาวตะวันตก

     การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4

  • อนุญาตให้ไพร่เสียเงินแทนการถูกเกณฑ์แรงงานเข้ารับราชการ
  • ให้เสรีภาพแก่สตรีที่บรรลุนิติภาวะในการเลือกคู่ครองโดยพ่อแม่จะบังคับไม่ได้
  • ห้ามพ่อแม่ขายบุตรเป็นทาส
  • ห้ามสามีขายภรรยาเป็นทาสโดยเจ้าตัวไม่สมัครใจ
  • ให้นางแอนนา เลียวโนเวนส์ ชาวอังกฤษ ไปสอนภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรสและธิดา
  • โปรดให้สตรีคณะมิชชันนารีผู้สอนศาสนาคริสต์เข้าไปสอนภาษาอังกฤษให้สตรีในราชสำนัก
การปรับปรุงประเพณีและวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 4     1. ประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า
     2. โปรดให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นเพื่อเป็นของที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน
เป็นบำเหน็จรางวัลแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการไทย และชาวต่างประเทศ

     3. ทรงเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยพระองค์ทรงร่วมเสวยด้วย
     4. ฟื้นฟูประเพณีการตีกลองร้องฎีกา เพื่อให้ทราบถึงทุกข์สุขของราษฎรโดยจะเสด็จ
ออกมารับฎีกาด้วยพระองค์เอง ทุกวันโกณ เดือนละ 4 ครั้ง
     5. ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกนับถือศาสนา
     6. ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกประกอบอาชีพ
     7. กำหนดให้ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาล ซึ่งรัชกาลที่ 4
ทรงสร้างขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร
     8. รัชกาลที่ 4 ทรงก่อตั้งธรรมยุตินิกาย เมื่อครั้งยังผนวชที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร ในสมัยรัชกาลที่ 3
การปรับปรุงด้านสาธารณสุขสมัยรัชกาลที่ 4
     
ด้านการสุขาภิบาล สมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีการสุขาภิบาลตามคำแนะนำของบาทหลวงมิชชันนารีบ้างแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด

ที่มา : ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐและคณะ,หนังสือเรียน ส306 ประเทศของเรา 4 สมบูรณ์แบบ,
          (กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,2542)
          คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,
           ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,   (กรุงเทพฯ : อัมรินทร์การพิมพ์,2525)                                        
          สุคน  สินธพานนท์ และพรรษมน กิตติสารศักดิ์. สังคมศึกษา ส306. 2542. หน้า 

สังคมวัฒนธรรมไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สังคมวัฒนธรรมไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สภาพสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น             
     สภาพสังคมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีลักษณะโครงสร้างไม่แตกต่างจากสมัยอยุธยาและธนบุรี ลักษณะโครงสร้างของสังคมไทยสมัยนี้  มีการแบ่งชนชั้น ถึงแม้จะไม่มีการแบ่งวรรณะอย่างอินเดีย แต่ฐานะความเป็นอยู่ของผู้คนก็แตกต่างกัน
องค์ประกอบของสังคมไทยแบ่งเป็น 4 ชนชั้น
     1. เจ้านาย  
ได้แก่ พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ พระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีลักษณะเป็นทั้งเทวราชาและธรรมราชา 
                    
     2. ขุนนางและข้าราชการ
                    
     3. ไพร่  เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แบ่งเป็น ไพร่หลวง และไพร่สม
      
     4. ทาส   ชนชั้นต่ำสุดในสังคมไทย ไม่มีอิสระในการดำเนินชีวิต ชีวิตขึ้นอยู่กับนายทาส แบ่งเป็น ทาสเชลย  ทาสในเรือนเบี้ย  ทาสสินไถ่  ทาสได้มาแต่บิดามารดา  ทาสที่เลี้ยงไว้เมื่อเกิดทุพภิกขภัย  ทาสที่ช่วยมาจากทัณฑ์โทษ และทาสท่านให้  ทาสที่ทำความดีความชอบต่อบ้านเมืองสามารถเลื่อนฐานะตนเองสูงขึ้นเป็นขุนนางได้ ส่วนขุนนางที่ทำผิดก็สามารถลดฐานะลงเป็นทาสได้เช่นกัน

ที่มา : ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐและคณะ,หนังสือเรียน ส306 ประเทศของเรา 4 สมบูรณ์แบบ,
          (กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,2542)
          คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,
           ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,   (กรุงเทพฯ : อัมรินทร์การพิมพ์,2525)                                        
          สุคน  สินธพานนท์ และพรรษมน กิตติสารศักดิ์. สังคมศึกษา ส306. 2542. หน้า 

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ลักษณะทางเศรษฐกิจไทยสมัยรัตนโกสินทร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ลักษณะทางเศรษฐกิจไทยสมัยรัตนโกสินทร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
การสร้างและพัฒนาชาติด้านเศรษฐกิจ 
     ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คณะราษฎรได้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจปรากฏในหลัก 6 ประการ โดยขั้นแรกรัฐมอบหมายให้    หลวงประดิษฐ์ มนูธรรม(นายปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) ซึ่งมีใจความสำคัญว่า

  • 1.รัฐบาลจะบังคับซื้อที่ดินทางกสิกรรมของราษฎรทั้งหมดโดยจ่ายเงินเป็นพันธบัตรรัฐบาล
  • 2.รัฐจะจัดการเศรษฐกิจทั้งหมดในรูปของระบบสหกรณ์
  • 3.บุคคลที่มีอายุระหว่าง 18-55 ปีจะเป็นข้าราชการทำงานให้รัฐตามความสามารถและ

 คุณวุฒิของตน โดยได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลหรือสหกรณ์ตามที่กำหนดซึ่ง                 
 เค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปรวมทั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า
เจ้าอยู่หัว เพราะเป็นนโยบายของระบอบคอมมิวนิสต์จึงล้มเลิกไปในที่สุด

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

  • 1.ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเริ่มก่อตัวช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะใช้เงินในการปรับปรุง
  •    หน่วยราชการและบำรุงศิลปวัฒนธรรมจำนวนมาก  และมีรายรับลดลงเพราะเกิดปัญหาขัดแย้งในยุโรปจนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1
  • 2.สมัยรัชกาลที่ 7 เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเพราะสินค้าไทยขายไม่ได้ เพราะต่างชาติไม่มีการสั่งซื้อ
  • 3.สมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งกระทบถึงประเทศไทยด้วย


การแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของรัชกาลที่ 7

  • 1.ยุบเลิกหน่วยราชการ
  • 2.ปลดข้าราชการออกบางส่วน
  • 3.ยอมลดรายจ่ายประจำปีของพระองค์ จาก 9 ล้าน เหลือ 6 ล้าน และ 3 ล้านบาทในที่สุดแต่ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะประเทศไทยขาดแคลนผู้ชำนาญการทางเศรษฐกิจและไม่มี แผนพัฒนาเศรษฐกิจ

“ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของรัชกาลที่ 7 เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่คณะราษฎรอ้างเป็นสาเหตุในการปฏิวัติเมื่อปีพ.ศ.2475”

เศรษฐกิจไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 
หลังการเปลี่ยนแปลงปกครอง พ.ศ.2475 เศรษฐกิจไทยเริ่มกระเตื้องขึ้น
                   สมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ( ป. พิบูลสงคราม) เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบาย  สร้างชาติทางเศรษฐกิจ โดย

  • 1.กระตุ้นให้ประชาชนช่วยตัวเองในทางเศรษฐกิจ เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน
  • 2.โฆษณาคำขวัญ “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ” เพื่อกระตุ้นให้คนไทยใช้สินค้าไทยและตื่นตัวในเรื่องชาตินิยม 3.เริ่มใช้นโยบาย รัฐวิสาหกิจ ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม จำนวนมากมาย
  • 4.สงวนอาชีพบางอย่างให้คนไทย เช่น ตัดผม
  • 5.ตั้งกระทรวงอุตสาหกรรม และตั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศ
เศรษฐกิจไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยประสบความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจอย่างหนักเพราะ

  • 1.การขนส่งหยุดชะงัก ทำให้ขาดแคลนสินค้า ยารักษาโรค น้ำมัน และสินค้าไทยขายไม่ได้
  • 2.ญี่ปุ่นบังคับให้ไทยขายสินค้าให้ในราคาถูก ลดค่าเงินบาท 1 บาทเท่ากับ 1 เยน ญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรไทยเอง นำมาใช้ในประเทศไทย ทำให้ไทยเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง 
  • 3.ไทยเกิดน้ำท่วมอย่างหนัก ในเขตที่ราบภาคกลางทั้งหมด
เศรษฐกิจไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

  • -ไทยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลายอย่าง
  • -รัฐบาลแก้ปัญหาโดยจัดทำโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ (วางแผนไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5) โดยกู้เงินจากธนาคารโลกในปี พ.ศ.2493 นำมาสร้างเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2500 สามารถส่งน้ำช่วยเหลือการเกษตรในพื้นที่ภาคกลาง 
  • -ในปีพ.ศ.2504 กู้เงินจากธนาคารโลก เพื่อนำมาสร้างเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก       สร้างเสร็จในปีพ.ศ.2507 สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในภาคกลางและภาคเหนือรวม 36 จังหวัดและส่งน้ำไปใช้ในการเกษตร



เศรษฐกิจไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
 
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
  • -ประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งแรกในปีพ.ศ.2504   เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นระบบ
  • -แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ช่วงแรก มุ่งเน้นสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ได้แก่ ทางหลวง ไฟฟ้า การชลประทาน การสื่อสาร โทรคมนาคม
  • -ส่งเสริมการผลิตพืชไร่ ที่สำคัญได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปอ อ้อย ฯลฯ
  • -เกษตรกรเริ่มหันมาใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถแทรกเตอร์ รถไถเดินตาม เครื่องสูบน้ำ ปุ๋ยเคมี เมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ
  • -มีอุตสาหกรรมเกิดใหม่หลายอย่าง เช่น สิ่งทอ ผลไม้กระป๋อง เครื่องใช้ไฟฟ้า การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ห้องเย็น
  • -มีนโยบายลดการลงทุนด้านรัฐวิสาหกิจ โดยขายให้เอกชนดำเนินการเพราะรัฐทำแล้วขาดทุนเนื่องมาจากการฉ้อราษฎรบังหลวง ปัจจุบันเหลือเพียง 1.ไฟฟ้า  2.ประปา   3.โทรศัพท์   4.รถเมล์ (ในกรุงเทพฯ)  5.รถไฟ  6.การบิน  7.ยาสูบ  8.สลากกินแบ่ง -ส่งเสริมให้เอกชนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย   โดยสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนทุกอย่าง ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี   มีต่างประเทศมาลงทุนในไทยมากมาย เช่น ญี่ปุ่น  ฮ่องกง  ไต้หวัน  ยุโรป  อเมริกา 

เศรษฐกิจไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

  • -หลังจากใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ มาได้ 15 ปี (ฉบับที่ 1-3) ความเจริญกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้ชาวชนบทอพยพเข้าสู่เมือง ทำให้เกิดปัญหาประชากรหนาแน่น แหล่ง เสื่อมโทรม ในกรุงเทพ ทำให้เกิดปัญหามากมาย   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4-5  จึงเน้นการกระจายรายได้ออกสู่ชนบท โดยขยาย อุตสาหกรรมและโครงการใหญ่ๆ สู่ภูมิภาค
  • -หลังจากประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ มาได้ประมาณ 20 ปี มูลค่าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่าตัว สินค้าใหม่ๆ ที่ทำรายได้สูง ได้แก่ สิ่งทอ อัญมณี  แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ประมงแช่แข็ง ไก่แช่แข็ง และรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งได้รับความนิยมสูงมาก ทำรายได้สูง-
  • -ในปี พ.ศ.2524 ไทยมีการขุดพบหลุมก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีการเร่งรัดพัฒนาประเทศเพื่อเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (นิกส์) โดยส่งเสริม
  • -โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์   มุ่งเน้นให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก กำหนดให้ เขตมาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น โรงงานแยกก๊าซ ปิโตรเคมี ปุ๋ยเคมี กำหนดให้แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เป็นที่ตั้งท่าเรือพาณิชย์และอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม เพื่อการส่งออก และมีหลายโครงการดำเนินเสร็จแล้วและมี โรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย
  • -หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรง ปีพ.ศ.2531 (ไต้ฝุ่นเกย์) พลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ  ให้ความเห็นชอบให้มีโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) เพื่อพัฒนาทรัพยากร เช่น   ยางพารา กาแฟ มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ดีบุก ก๊าซธรรมชาติและอุตสาหกรรมประเภทซ่อมเรือ ต่อเรือ ประมง  การขนส่งเชื่อม  ฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย   การบริหารประเทศในยุคต่อๆมาจนถึงปัจจุบันต่างก็ยึดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหลัก จนถึงปัจจุบัน   มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549)
  • -เศรษฐกิจแบบฟองสบู่ เกิดขึ้นสมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ   เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นลักษณะที่ดูเหมือนเศรษฐกิจในประเทศขยายตัว แต่ไทยก็เป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก   ประชาชนใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย 
ผลเสียหายร้ายแรงของเศรษฐกิจแบบฟองสบู่

  • 1.ค่าของเงินบาทเริ่มตกต่ำ แต่รัฐก็พยายามรักษาค่าเงินบาทสูงกว่าความเป็นจริง
  • 2.สมัยพลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ เงินคงคลังที่เคยมีสูงถึง 4    หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐร่อยหรอลงเพราะรัฐบาลนำไปพยุงค่าของเงินบาท จนเหลือเพียง 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ    จนทำให้ต่างประเทศไม่มั่นใจเศรษฐกิจไทย มีการถอนการลงทุน ธุรกิจต่างๆ หยุดชะงัก    โรงงานอุตสาหกรรมปิดกิจการหลายแห่ง ประชาชนตกงาน เกิดภาวะ     เงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆจนรัฐบาลต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวและขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ    (IMF) โดยขอกู้เงินมาช่วยพยุงภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เรียกว่า “เศรษฐกิจยุค IMF” ประชาชนเรียกร้องให้  พลเอกเชาวลิต    ยงใจยุทธ ลาออก
  • 3.หลังจากพลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ ลาออก นายชวน  หลีกภัย  เข้ามารับหน้าที่แทน  สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ไทยก็ยังเป็นหนี้ IMF และใช้หนี้  ต่อไปในปีพ.ศ.2542 เศรษฐกิจไทยเริ่มกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย
  • 4.ยุคของรัฐบาลที่นำโดย พรรคไทยรักไทย มีนายกรัฐมนตรี คือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ  ในหลายด้าน จนภาวะเศรษฐกิจไทยดีขึ้น มีการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก  และที่สำคัญชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น เพราะรัฐบาลนี้เห็นความสำคัญของคนจน และสามารถใช้หนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2546    ซึ่งถือเป็นผลงานสำคัญของรัฐบาลชุดนี้
  • 5.ปัจจุบันเป็นยุคของรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ มีนายกรัฐมนตรี คือ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เป็นยุคที่ค่าเงินบาทแข็งค่า  ปัจจุบันเกิดปัญหาราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ขึ้นราคา    ทำให้เกิดผลกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันปาล์ม
ที่มา : ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐและคณะ,หนังสือเรียน ส306 ประเทศของเรา 4 สมบูรณ์แบบ,
          (กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,2542)

          คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,
          ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ , (กรุงเทพฯ :  อัมรินทร์การพิมพ์,2525)
          สุคน  สินธพานนท์ และพรรษมน กิตติสารศักดิ์. สังคมศึกษา ส306. 2542. หน้า 

ลักษณะทางเศรษฐกิจไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปฏิรูปบ้านเมือง (รัชกาลที่ 4-7)

ลักษณะทางเศรษฐกิจไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปฏิรูปบ้านเมือง (รัชกาลที่ 4-7)
สภาพเศรษฐกิจในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมัยรัชกาลที่ 4 นั้น    พระราชกรณียกิจทางการบริหารประเทศอันดับแรกที่
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงกระทำเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ คือ การลดภาษีสินค้าขาเข้า การอนุญาตให้ส่งข้าวเป็นสินค้าออกได้ และการค้าฝิ่นโดยผ่านระบบเจ้าภาษี การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ หลังทำสนธิสัญญาเบาว์ริงแล้ว ระบบเศรษฐกิจของไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจแบบยังชีพไปสู่เศรษฐกิจแบบเงินตรากับนานาประเทศ
การค้าขายขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางโดยใช้เงินตราเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน

                                  


สนธิสัญญาเบาว์ริง

สาระสำคัญของสัญญาเบาว์ริงทางเศรษฐกิจ
1. คนในบังคับอังกฤษหรือชาติต่างๆ ทำการค้าได้โดยเสรี
2.ยกเลิกภาษีเบิกร่องหรือค่าปากเรือ โดยให้เก็บภาษีขาเข้าร้อยละ 3 แทน อนุญาตให้
   นำฝิ่นเข้ามาโดยไม่ต้องเสียภาษี แต่จะต้องขายให้กับผู้ผูกขาดการค้าฝิ่นในเมืองไทยเท่านั้น
3.ไทยอนุญาตให้ส่งข้าวเป็นสินค้าออกได้ ยกเว้นในปีที่ทำนาไม่ได้ผล 4.สินค้าออกให้เก็บเป็นภาษี
" ขาออกอย่างเดียว
5.ให้ไทยตั้งโรงภาษีหรือศุลกากร เพื่อทำการตรวจสินค้าต่างๆ ที่นำขึ้นมาจากเรือ และลงเรือเพื่อเก็บภาษีขาเข้าหรือขาออกแล้วแต่กรณีสนธิสัญญาเบาว์ริงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ทางเศรษฐกิจของไทยอยู่หลายประการ คือ
1.การเปลี่ยนแปลงระบบการค้า ไทยยกเลิกวิธีการค้าแบบพระคลังสินค้าให้มีการค้าอย่างเสรี
2.การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ การผลิตหลังจากที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ    ระบบเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบเลี้ยงตนเอง เป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า
3.การเปลี่ยนแปลงด้านภาษีอากร ไทยต้องยกเลิกการค้าแบบผูกขาด
4.การขยายตัวทางเศรษฐกิจอื่นๆ มีบริษัทและร้านค้าที่ชาวต่างชาติขอเปิดขึ้น
    มากมายในกรุงเทพฯ เช่น บริษัท บอร์เนียว จำกัด  บริษัท เรมีเดอมองตินยี จำกัด  หรือโรงแรมสมัยใหม่
    เช่น โฮเตลฟอลด์ เป็นต้น
5.การพัฒนาประเทศเพื่อรองรับความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ ได้แก่
     5.1 การตัดถนน ถนนสายแรกคือ ถนนเจริญกรุง ฝรั่งเรียกว่า นิวโรด (New Road)ต่อมา
           ได้ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย เช่น ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื้องนคร ถนนพระรามที่ 4  นนสีลม
     5.2 การขุดคลอง พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองผดุงเกษม เพื่อใช้เป็นแนว
           ป้องกันพระนครชั้นนอกและเพื่อสะดวกในการคมนาคม    คลองมหาสวัสดิ์ คลองเจดีย์บูชา             คลองดำเนินสะดวก เพื่อสะดวกในการคมนาคม  ขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯกับหัวเมืองใกล้เคียง

การปฏิรูปเงินตราสมัยรัชกาลที่ 4
   สมัยรัชกาลที่ 4 ระบบการค้าเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบ
เงินตรามีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการขาดแคลนเงินตราในการซื้อขาย       แลกเปลี่ยน เงินตราที่ใช้อยู่ทั่วไปคือ เบี้ย ซึ่งเป็นหอยชนิดหนึ่งได้มาจากหมู่เกาะมาลดีบในมหาสมุทรอินเดีย แต่อัตราแลกเปลี่ยนเบี้ยในท้องตลาดไม่ค่อยจะคงตัว โดยปกติจะอยู่ราว 800 เบี้ย ต่อ 1 เฟื้อง นอกจากนี้ก็มีการใช้เงินพดด้วง เป็นลักษณะก้องกลมมีตราประทับบนตัวด้วง เงินตราทั้ง 2ชนิดไม่เหมาะกับการค้าสมัยใหม่เพราะ เบี้ยแตกง่าย  เงินพดด้วงก็ปลอมได้ง่ายและผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการครั้งเมื่อพ่อค้าต่างชาตินำเงิน    
เหรียญสเปน หรือเหรียญเม็กซิโกเข้ามาใช้ ก็ไม่มีใครยอมรับ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อ     
การค้าขายมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหานี้ชาวต่างประเทศถึงกับแนะนำให้รัฐบาลไทยเลิกใช้   
เงินบาท โดยพ่อค้าเหล่านั้นจะผลิตเงินบาทเข้ามาใช้เอง แต่รัชกาลที่ 4  ไม่ทรงเห็นด้วยเพราะจะเป็นโอกาสให้มีเหรียญปลอมระบาดมากขึ้น
การแก้ปัญหาของรัชกาลที่ 4 ในเรื่องนี้ คือมีพระราชดำริที่จะเลิกใช้เงินพดด้วงซึ่ง
ทำด้วยมือซึ่งผลิตได้ช้าไม่ทันการมาใช้เงินเหรียญที่ผลิตจากเครื่องจักรแทน โดย            ซื้อเครื่องจักรมาจากต่างประเทศ เริ่มมีการผลิตเงินเหรียญเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ.2403 และตั้งแต่นั้นมามีการผลิตเงินเหรียญในชนิดและอัตราต่างๆออกมา
ในปีพ.ศ.2405 โปรดเกล้าฯให้ผลิตเหรียญดีบุกขึ้น2 ชนิด คือ อัฐมีราคา 8 อันต่อ
1 เฟื้อง  และโสฬส  มีราคา 16 อันต่อ 1 เฟื้อง
ปีพ.ศ.2406  โปรดเกล้าฯให้มีการผลิตเหรียญทองมีอัตราต่างกันตามลำดับ ดังนี้
คือ ทศราคาอันละ 8 บาท  พิศราคาอันละ 4  บาทและพัดดึงส์ราคาอันละ 10  สลึง
ปี พ.ศ.2408 โปรดเกล้าฯให้ผลิตเหรียญทองแดง 2 ชนิดคือ  ซีกมีราคา 2 อันต่อ
1 เฟื้อง และเซี่ยว(ปัจจุบันเรียก เสี้ยว) มีราคา 4 อันต่อ 1 เฟื้อง  
โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ รัชกาลที่4 โปรดเกล้าฯให้มีประกาศแจ้งให้ราษฎรได้ทราบ
และชักชวนให้ราษฎรมาใช้เงินเหรียญชนิดต่างๆที่ผลิตขึ้น
นอกจากเงินเหรียญชนิดต่างๆ แล้วรัฐยังได้พิมพ์ธนบัตรที่เป็นกระดาษคล้ายกับ
ปัจจุบันด้วยสมัยนั้น เรียกว่า “หมาย”มีราคาตั้งแต่เฟื้อง จนถึง 1 บาท ผู้ที่เป็นเจ้าของหมายจะได้รับเงินก็ต่อเมื่อนำหมายดังกล่าวนั้นไปขึ้นเงินที่พระคลังมหาสมบัติ แต่ราษฎรไม่เห็นประโยชน์จากการใช้กระดาษเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน การใช้หมายดังกล่าวจึงไม่แพร่หลาย
การตั้งโรงงานกระษาปณ์เพื่อผลิตเหรียญตรา ในปีพ.ศ.2403 ในขั้นแรกเป็นวิธีการ
ที่รัฐพยายามที่จะ แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แต่ผลที่ตามมานอกเหนือจากนั้น         ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเงินตรา ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้า เพราะการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราในระบบใหม่ที่สะดวกกว่าระบบเก่า ย่อมจะทำให้    การค้าระหว่างประเทศขยายตัว ปริมาณการหมุนเวียนของสินค้ามีมากขึ้นตามไปด้วย


การปรับปรุงเศรษฐกิจในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2411-2453)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปเศรษฐกิจ ดังนี้

1.การปฏิรูปด้านการคลัง รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้น
ในปี พ.ศ.2416 ในพระบรมมหาราชวัง ทำหน้าที่รับผิดชอบรวบรวมเงินภาษีอากร          ทุกชนิดนำส่งพระคลังมหาสมบัติ ทำบัญชีรวบรวมผลประโยชน์ ตรวจตราการเก็บ       ภาษีอากรของหน่วยราชการต่างๆ ให้เรียบร้อยรัดกุม รับผิดชอบการจ่ายเงินเดือนในอัตราที่แน่นอนให้กับข้าราชการฝ่ายพลเรือนและทหาร
เฉพาะในส่วนกลางแทนการจ่าย เบี้ยหวัดและเงินปี

ลักษณะทางเศรษฐกิจของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ลักษณะทางเศรษฐกิจของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

    เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นใหม่ๆนั้นการค้ากับต่างประเทศมียังไม่มาก
เพราะมีปัญหาภายในและต้องทำสงครามกับพม่า  ภายหลังไทยสามารถเอาชนะพม่าได้อย่างเด็ดขาดในสงครามท่าดินแดง(พ.ศ.2329)
ทำให้มีหลายประเทศเข้ามาทำการค้าด้วย เศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า 
เศรษฐกิจการค้าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น 
เจริญรุ่งเรือง คือ การปรับปรุงจัดทำเงินตราขึ้นใหม่ เงินตราที่ใช้ในสมัยนี้ คือ เงินพดด้วง

มีรูปร่างคล้ายตัวด้วง และมีตราเครื่องหมายประจำรัชกาลตีกำกับไว้
                             
                                         เงินพดด้วง

 1.  รายได้จากการค้ากับต่างประเทศ                                                            
     กรุงเทพฯ นับว่าอยู่ในทำเลที่เหมาะสมในการติดต่อค้าขายทางเรือ 
เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลจากปากทะเล ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ 
(ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) 
ซึ่งทรงบังคับบัญชากรมท่า มีบทบาทในการส่งเสริมการค้าโดยเฉพาะกับจีน จนสมเด็จพระบรมชนกนาถ 
ทรงเรียกพระนามว่า "เจ้าสัว"  ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างจริงจัง การค้าขายกับต่างประเทศจึงขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าใน 2 รัชกาลแรก
รายได้จากการค้ากับต่างประเทศที่สำคัญ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้คือ

           

 (1)  การค้าสำเภาหลวง   พระคลังสินค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐขึ้นอยู่กับพระคลัง 
(พระยาโกษาธิบดี) มีหน้าที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ โดยการแต่งเรือสำเภาหลวงบรรทุกสิ่งของ
ที่เป็นส่วย เช่น ดีบุก พริกไทย ครั่ง ขี้ผึ้ง ไม้หอม ฯลฯ  รวมทั้งสินค้าอื่น ๆ ที่จัดซื้อหาเพิ่มเติมออกไปค้าขายกับจีนและประเทศใกล้เคียง เช่น เขมร ญวน และมลายู แล้วรับซื้อสินค้าต่างประเทศที่ต้องการใช้ภายในประเทศ เช่น ผ้า ถ้วยชาม มาจำหน่ายแก่ประชาชนอีกต่อหนึ่ง ผลกำไรจากการค้าสำเภาหลวงนับเป็นรายได้ที่สำคัญยิ่งของแผ่นดิน
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
     (2)  กำไรจากการผูกขาดสินค้า   พระคลังสินค้ามีหน้าที่ควบคุมการค้ากับต่างประเทศ 
เช่นในสมัยอยุธยา โดยผูกขาดสินค้าบางอย่างซึ่งเป็นสินค้าหายาก ราคาแพง  เช่น รังนก ฝาง ดีบุก 
งาช้าง พริกไทย เนื้อไม้ ตะกั่ว และพลวง  เป็นสินค้าผูกขาดของหลวง  ราษฎรผู้ใดมีสินค้าดังกล่าว 
ให้นำมาขายแก่พระคลังสินค้า เท่านั้น  ห้ามเอกชนซื้อขายกับพ่อค้าต่างชาติโดยตรง  ถ้าชาวต่างประเทศ
ต้องการซื้อสินค้าเหล่านี้ จะต้องซื้อผ่านพระคลังสินค้าซึ่งทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง เรียกสินค้าเหล่านี้ว่า 
สินค้าต้องห้าม
     (3)  ภาษีปากเรือ   เป็นค่าธรรมเนียม ซึ่งเก็บจากเรือสินค้าของชาวต่างประเทศที่เข้ามาจอดในเมืองท่าของไทย  กำหนดเก็บภาษีตามส่วนกว้าง
ที่สุดของเรือ      
     (4)  ภาษีสินค้าขาเข้า   เก็บจากสินค้าที่พ่อค้าต่างประเทศนำเข้ามาจำหน่าย เช่น ผ้าฝ้าย  
ผ้าแพรจีน  เครื่องแก้ว  เครื่องลายคราม  ใบชา  อัตราการเก็บไม่แน่นอน  ยืดหยุ่นตามความเหมาะสม  เช่น  เรือของประเทศที่มีสัมพันธไมตรีเข้ามาค้าขายเป็นประจำ จะได้รับสิทธิพิเศษ ในสมัยรัชกาลที่ 2  เรือสินค้าของชาวจีนเสียภาษีสินค้าขาเข้าร้อยละ 4 ถ้าเป็นเรือสินค้าของชาติตะวันตก เสียภาษีร้อยละ 8 
ของราคาสินค้า
     (5)   ภาษีสินค้าขาออก   เก็บจากสินค้าที่ส่งออกในอัตราที่ต่างกันไปตามชนิดของสินค้า  
เช่น  ในสมัยรัชกาลที่ 2 รังนกนางแอ่นกับเขากวางอ่อน  เสียภาษีร้อยละ 20 ของราคาสินค้า  
งาช้างหาบละ 10 สลึง  เกลือเกวียนละ 4 บาท  หนังวัว  หนังควาย  กระดูกช้าง หาบละ 1 บาท
 
 

2.  รายได้ภายในประเทศ
    ส่วนใหญ่คงเป็นแบบเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงธนบุรี  
รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีอากร แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
     (1)   จังกอบ   หมายถึง  ภาษีสินค้าผ่านด่านทั้งทางบกและทางน้ำ  โดยการเก็บ
ตามสัดส่วนสินค้าในอัตรา 10 หยิบ 1  หรือเก็บเงินตามขนาดของยานพาหนะที่ขนสินค้า
ผ่านด่าน ส่วนใหญ่วัดตามความกว้างที่สุดของปากเรือ
     (2)   อากร   เป็นเงินที่เก็บจากผลประโยชน์ที่ราษฎรได้จากการประกอบอาชีพต่าง ๆ 
ที่ไม่ใช่การค้าขายโดยตรง เช่น การทำนา ทำสวน หรือเงินที่พ่อค้าเสียให้แก่รัฐบาล
ในการให้สัมปทานการประกอบการต่าง ๆ เช่น การให้เก็บของป่า การต้มสุรา 
อัตราที่เก็บประมาณ 1 ใน 10 ของผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้
     (3)   ส่วย   เป็นเงินหรือสิ่งของที่ไพร่หลวงที่ไม่ต้องการเข้าเวรรับราชการส่งมาให้รัฐแทนการเข้าเวร
รับราชการ  โดยรัฐเป็นผู้กำหนดว่าให้ไพร่หลวงต้องเข้าเวรภายใน 3 เดือน  ผู้ใดไม่ต้องการจะเข้าเวร  
จะต้องเสียเป็นเงินเดือนละ 6 บาท
     (4)   ฤชา   เป็นเงินค่าธรรมเนียมที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎร  ในกิจการที่ทางราชการจัดทำให้  
เช่น  การออกโฉนด  เงินปรับสินไหม ที่ฝ่ายแพ้จะต้องชดใช้ให้แก่ฝ่ายชนะ  รัฐก็จะเก็บไปครึ่งหนึ่งเป็นค่าฤชา  
เรียกว่า  "เงินพินัยหลวง" นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปรุงภาษีบางอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิมในสมัยรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3  
ที่สำคัญ ๆ ดังนี้ 
     สมัยรัชกาลที่ 2 มีการปรับปรุงภาษี ดังนี้
การเดินสวน  คือ  การให้เจ้าพนักงานที่ได้รับการแต่งตั้งออกไปสำรวจเรือกสวนของราษฎรว่าได้จัดทำผลประโยชน
์ในที่ดินมากน้อยเพียงใด แล้วออกหนังสือสำคัญให้เจ้าของถือไว้เพื่อเป็นหลักฐานการเสียภาษีอากร  ซึ่งการจัดแบ่งภาษีการเดินสวนจัดแบ่งตามประเภทของผลไม้
การเดินนา  คือ  การให้เจ้าพนักงานออกไปสำรวจที่นาของราษฎร  แล้วออกหนังสือสำคัญให้เจ้าของถือไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการเสียภาษีอากรที่เรียกว่า "หางข้าว"  
คือ การเก็บข้าวในอัตราไร่ละ 2 ถัง และต้องนำไปส่งที่ฉางหลวงเอง
เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน   เดิมชาวจีนได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์แรงงานในขณะที่ราษฎรไทยที่เป็นไพร่
และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยต้องถูกสักข้อมือเป็นไพร่และต้องทำงานให้แก่มูลนายและพระเจ้าแผ่นดิน  
รัฐบาลไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 เห็นควรที่จะได้ใช้ประโยชน์จากแรงงานจีน จึงได้พิจารณาเก็บเงินค่าราชการ
จากชาวจีน 1 บาท 50 สตางค์ ต่อ 3 ปี   จีนที่มาเสียค่าแรงงานแล้ว จะได้รับใบฎีกาพร้อมกับได้รับการผูกปี้ข้อมือด้วยไหมสีแดงประทับตราด้วยครั่งเป็นตราประจำเมือง ซึ่งแตกต่างกันออกไป 
เช่น เมืองเพชรบุรีเป็นรูปหนู  กาญจนบุรี เป็นรูปบัว   การผูกปี้ข้อมือจีนนี้ เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 
ได้เป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชบัญญัติลักษณะการผูกปี้ข้อมือจีน พ.ศ. 2443 
ออกใช้บังคับทั่วทุกมณฑล และได้ยกเลิกไปในตอนปลายรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2451
     สมัยรัชกาลที่ 3  มีการเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นหลายชนิด  เช่น  ภาษีพริกไทย  น้ำตาล  เป็นต้น  
ในสมัยนี้มีระบบการเก็บภาษีแบบใหม่เกิดขึ้น  เรียกว่า  "ระบบเจ้าภาษีนายอากร"  หมายถึงการที่รัฐเปิดประมูลการเก็บภาษี  
ผู้ชนะการประมูล คือ ผู้ที่เสนอผลประโยชน์สูงสุดให้แก่รัฐบาล  มีอำนาจไปดำเนินการเก็บภาษีแทนรัฐบาลอีกต่อหนึ่ง  
ผู้ที่ประมูลภาษี เรียกว่า "เจ้าภาษีนายอากร" ส่วนมากเป็นชาวจีนผู้มีฐานะดีทางเศรษฐกิจจากการลงทุนค้าขาย  


ผลดีของระบบเจ้าภาษีนายอากร คือรายได้จากการเก็บภาษีอากร
ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น  แต่มีข้อเสีย คือ เป็นระบบผูกขาด
ที่ให้แก่ชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ และอาจจะมีการขูดรีดภาษีจากราษฎรได้

 

ที่มา : ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐและคณะ,หนังสือเรียน ส306 ประเทศของเรา 4 สมบูรณ์แบบ, 
          (กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,2542)

          คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,           ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ , (กรุงเทพฯ :  อัมรินทร์การพิมพ์,2525)

          สุคน  สินธพานนท์ และพรรษมน กิตติสารศักดิ์. สังคมศึกษา ส306. 2542. หน้า 

Selaphumpittayakom School

Selaphumpittayakom School